สธ. หารือการท่องเที่ยว เตรียมมาตรการรองรับเปิดสถานที่ ขอแค่เพียง นายกฯ ไฟเขียว ปลดล็อกเมือง เริ่มดำเนินการทันที
เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ประชุมร่างข้อเสนอมาตรการพื้นฐานสำหรับประกอบการพิจารณาการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อวางมาตรการเตรียมพร้อมภายหลังการผ่อนปรนมาตรการคลายล็อกประเทศไทย ร่วมกับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา(กก.) ซึ่งเป็นการประชุมนัดแรกอย่างเป็นทางการระหว่าง 2 กระทรวง เป็นการวางมาตรการระดับชาติที่มีความสำคัญระดับต้นของประเทศไทย
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า นายอนุทิน ได้ประชุมร่วมกับ กก. หารือเรื่องเตรียมความพร้อมมาตรการ ที่รัฐบาลจะประกาศผ่อนคลายหรือขยายมาตรการล็อกดาวน์ต่อไป ในวันอังคารที่ 28 เมษายน โดยทาง สธ. จะต้องเป็นผู้วางมาตรการ ส่วน กก. ไม่สามารถวางมาตรการได้ จึงมาขอความร่วมมือจาก สธ. ว่า ให้มีการดำเนินการเป็นเฟส หากว่าทุกอย่างผ่อนคลายแล้ว รัฐบาลเริ่มเปิดให้มีการกระทำบางสิ่งบางอย่างได้ เช่น การออกกำลังกาย จัดอยู่ในเฟส 1 ซึ่งเป็นกิจกรรมกลางแจ้ง ไม่มีการสัมผัส หรือมีการเปิดสนามวิ่งออกกำลังกาย และจะต้องมีมาตรการป้องกันตัวเองส่วนบุคคล ทั้งนี้ได้ตั้ง คณะกรรมการมา 1 ชุด โดยมี พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัยเป็นประธาน และมีคณะกรรมการกีฬา การท่องเที่ยว เข้ามาร่วมด้วย
“เชื่อว่าในอนาคตข้างหน้า ทั้งการท่องเที่ยวและกีฬา จะมีการสาธารณสุขเป็นลีด (Lead) ในการป้องกันตัวเพื่อให้ปลอดจากการติดโรค การเกิดโรคระบาดในครั้งนี้ เกิดจากคนละเลยสิ่งต่างๆ ในการป้องกันตัวเอง แต่ด้วยวัฒนธรรมของไทย ที่มีการทักทายด้วยการไหว้ ไม่ได้สัมผัสตัวกัน จึงเป็นที่มาของการแพร่ระบาดที่น้อยในประเทศไทย ต่างจากวัฒนธรรมของชาวตะวันตก กล้าพูดเลยว่าสาธารณสุขของเราคืออันดับที่ 1 ของโลก ด้วยมาตรการต่างๆ และประชาชนให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเป็นอย่างดี และการควบคุมโรคอยู่ในระดับที่น่าพอใจอย่างมา ท่านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็มีความพอใจอย่างมาก แต่สิ่งที่ต้องหารือคือ เมื่อเปิดประเทศแล้ว กระทรวงท่องเที่ยวจะทำอย่างไร” นายพิพัฒน์ กล่าว
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า เบื้องต้นจะมีมาตรการ คือ 1.ให้ สธ. วางมาตรการ การต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ว่าจะดำเนินการอย่างไร 2.การจัดให้มีการท่องเที่ยวภายในประเทศก่อน เนื่องจากนอกประเทศยังมีการแพร่ระบาดอยู่ ดังนั้นการท่องเที่ยวต่างประเทศคงเป็นไปไม่ได้ 3.กีฬา ที่ไม่มีการสัมผัสตัวกันของผู้เล่น เช่น แบดมินตัน เทนนิส โดยมาตรการทั้งหมด ต้องรอคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาพิจารณาต่อไปว่า จะมีข้อกำหนดใดบ้าง และเมื่อรัฐบาลจะเปิดผ่อนปรนมาตรการ จะสามารถกระทำการแต่ละเฟสได้เมื่อไหร่หรือเปิดทั้งหมดได้เมื่อไหร่
“ในการประชุมของคณะกรรมการชุดนี้ฯ จะมีการวางแผนประชุมมาตรการ และการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในสัปดาห์หน้าคาดว่ารัฐบาลจะผ่อนปรน หรือ ขยายพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ฉุกเฉินต่อไป ส่วนเรื่องกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน ขอให้ทางคณะกรรมการหารือกันก่อน คาดว่าสัปดาห์หน้าทราบผล ทั้งนี้เพื่อให้ชาวต่างชาติเห็นว่ามาตรการของประเทศไทยมีการวางมาตรการในการต้อนรับพวกเขาอย่างดีแค่ไหนในอนาคต” นายพิพัฒน์ กล่าว
นอกจากนี้ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า วางมาตรเบื้องต้นอาจจะมีการดำเนินการใน 9+1 จังหวัดที่ไม่เคยพบผู้ป่วยมากก่อน หรือ 32 จังหวัด ที่ไม่พบผู้ป่วยในระยะเวลา 28 วัน ควรไปมาหาสู่กันได้ ทั้งนี้ทาง กก.มีการเตรียมพร้อมแล้ว เหลือเพียงแต่การพิจารณาของนายกฯ ว่าจะให้ผ่อนคลาย เดินทางข้ามเขตได้ สิ่งเหล่านี้ทาง กก. และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) พร้อมเสมอเพราะได้มีการทำการบ้านไว้แล้ว แต่อย่างไรก็ต้องอยู่ภายใต้การกำกับของ สธ.
ด้าน นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ทุกคนอยากท่องเที่ยวแล้ว ข้อมูลล่าสุดที่คุยกับผู้ให้บริการด้านการจองที่พักโรงแรมรวมถึงบริการด้านการท่องเที่ยวต่างๆ(Online Travel Agency : OTAs) พบว่ามีปริมาณที่ผู้ไปค้นหาแหล่งเที่ยวในเดือนพฤษภาคมสูงที่สุดมากกว่าปกติ โดยปกติช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์จะเข้าช่วงโลว์ซีซั่น (Low Season) แต่ต้นเดือนพฤษภาคมมีช่วงวันหยุดยาว และอาจจะมีการปลดล็อกดาวน์ ก็จะมีการเดินทางด้วยรถยนต์มากขึ้น เป็นท่องเที่ยวระยะสั้น นักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กลง ส่วนการเดินทางเครื่องบิน น่าจะได้ความนิยมในระยะภายหลัง ถ้าหากมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลง ก็จะเป็นพฤติกรรมรูปแบบใหม่ ที่จะปรับพฤติกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ได้เช่นกัน
“การไปเที่ยวจะเป็นการไปเที่ยวกับคนรู้จัก และจะต้องปรับตัวกันเยอะพอสมควร เช่น การนั่งที่นั่งเว้นที่นั่ง การควบคุมจำนวนของประชาชนที่จะเข้าแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ ทั้งนี้การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่จะช่วยรักษาแหล่งธรรมชาติได้อีกทางหนึ่ง หากเป็นการเปิดเมือง ต้องเริ่มเที่ยวในจังหวัดหรือจังหวัดใกล้เคียงก่อน เป็นการเดินทางระยะสั้น หรือ One Day Trip การท่องเที่ยวแบบพักค้าง 1 คืน ซึ่งจะต้องมาประเมินกันอีกครั้งหนึ่ง” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ทั้งนี้ทางกรมอนามัยจะใช้หลักการพิจารณาคือ 1.พื้นที่ลักษณะเปิด/พื้นที่กลางแจ้ง 2.พื้นที่ปิด อาการไม่ถ่ายเท และ 3.ความหนาแน่นของผู้เข้าใช้บริการ หรือรูปแบบพฤติกรรม/กิจกรรมที่สัมผัสร่างกายกัน เป็นการเตรียมความพร้อมที่ใช้ปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ในการประชุมหารือครั้งนี้มุ่งเน้น คือ การออกกำลังกาย/สถานที่ท่องเที่ยว ที่ควรนำมาพิจารณาพร้อมมีเงื่อนไขในการเปิด มีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม เช่น ในอุทยาน อาจจะมีการกำหนดจำนวนผู้เข้า กำหนดกิจกรรมที่ทำ เพื่อไม่ให้มีการทำกิจกรรมในลักษณะที่รวมกลุ่มกัน
“มีหลายเรื่องที่ต้องทำความพร้อม ต้องสร้างความเข้าใจกันก่อน ต้องมีการเทรนกันก่อน อาจจะมีบางพื้นที่เปิดได้ในต้นเดือนพฤษภาคม เช่น ออกกำลังกาย พักผ่อน ผ่อนคลาย ที่ไม่ต้องทำอะไรมาก ไม่มีการยุ่งยากในการจัดการ พื้นที่เปิด อากาศถ่ายเทสะดวก โดยหลักการเบื้องต้นคือ การแข่งขันกีฬา ที่มีเฉพาะผู้เล่น โดยเล่นระยะห่างกัน เช่น เล่นแบดมินตัน ที่มีตาข่ายกัันตรงกลาง ผู้เล่นไม่สัมผัสกัน และจะไม่ให้มีผู้เข้าเชียร์ ซึ่งเป็นหลักคิดในการผ่อนคลายมาตรการด้านนี้” พญ.พรรณพิมล กล่าว
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล