“ก้าวไกล” เสนอ 6 มาตรการ ดูแลแรงงานข้ามชาติ หวั่น “ไทย” ซ้ำรอย “สิงคโปร์”

วันที่ 26 เมษายน นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) โพสข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า ตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ณ วันนี้ 25 เมษายน 2563 สูงขึ้นจากรอบหลายวันที่ผ่านมา อยู่ที่ 53 ราย โดยเป็นแรงงานต่าชาติ 42 ราย ตรวจพบในศูนย์กักกัน อ.สะเดา จังหวัดสงขลา เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการตรวจเชิงรุก ต่อตัวเลขผู้ติดเชื้อในส่วนของแรงงานต่างชาติที่พบในวันนี้ ทำให้เห็นว่ามีคนบางกลุ่มที่รัฐไม่อาจมองข้ามไปได้และกลายเป็นบทเรียนสำคัญที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์ ที่สถานการณ์เป็นไปอย่างน่าพึงพอใจในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ปัจจุบันกลับมียอดผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นไปถึงระดับ 1,426 คนและสถานการณ์ยังคงไม่คลี่คลาย แม้สิงคโปร์จะเป็นประเทศที่มีการรับมือได้อย่างมีระบบและถือเป็นตัวอย่างของประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดโดยไม่มีการปิดประเทศ แต่กลับประสบกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่อย่างรุนแรง
จึงนำมาสู่คำถามสำคัญว่าอะไรเป็นสาเหตุต่อเหตุการณ์ดังกล่าว เมื่อพิจารณาตัวเลขและกลุ่มผู้ติดเชื้อรายใหม่ จะพบว่า ในช่วงตั้งแต่เกิดการระบาด ผู้ป่วยรายใหม่ร้อยละ 81.2 มาจากแรงงานต่างชาติที่อาศัยอยู่ในหอพัก (ประมาณ 9,076 ราย จากผู้ติดเชื้อทั้งหมดในประเทศสิงค์โปร์ 11,178 ราย) นอกจากนั้นอัตราการติดเชื้อภายในกลุ่มผู้ที่อยู่อาศัยหอพักยังสูงถึง 2.81% ซึ่งคิดจากจำนวนแรงงานต่างด้าวที่อาศัยในหอพักจำนวนประมาณ 323,000 คน ซึ่งจำนวนดังกล่าวมากกว่าแรงงานต่างชาติในจังหวัดสมุทรสาครเล็กน้อย ซึ่งในช่วงแรกนั้นมาตรการของสิงคโปร์ไม่ได้คำนึงถึงกลุ่มแรงงานต่างชาติที่เข้าไปทำงานภายในประเทศ โดยกลุ่มคนเหล่านี้อาศัยอยู่ในหอพักที่ค่อนข้างคับแคบและแออัด บางห้องมีผู้อาศัยอยู่มากถึง 12 คน ซึ่งหากมีผู้ติดเชื้อแม้เพียงหนึ่งราย สถานการณ์การแพร่ระบาดอาจพลิกผันไปได้เพียงชั่วข้ามคืน อีกทั้งคนกลุ่มนี้มักถูกมองข้ามและเลือกปฏิบัติภายใต้มาตรการของรัฐ จึงเป็นเหตุให้ คนกลุ่มนี้เป็นช่องโหว่ทางมาตรการที่ทำให้สถาณการณ์เลวร้ายลงกว่าที่เป็นมา

เมื่อหันกลับมามองยังกลุ่มแรงงานต่างชาติในไทย ซึ่งข้อมูลทางการล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีจำนวนมากถึง 2.9 ล้านคน กระจายอยู่ตามเมืองเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม มาตรการที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างชาติในปัจจุบัน มีเพียงการต่ออายุใบอนุญาตการทำงาน จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายนเท่านั้น แต่มาตรการอื่นยังคงไม่มีความชัดเจน ดังนั้นแรงงานต่างชาติที่จะได้รับสิทธิในการตรวจหาโรคและรักษา จึงมีเพียงแรงงานต่างชาติที่อยู่ในระบบหรือมีประกันสังคม ม.33 ประมาณ 1.17 ล้านคนเท่านั้น (ข้อมูลไตรมาส 3/2562) ซึ่งหมายความว่าแรงงานต่างชาติอีกประมาณ 1.73 ล้านคน รวมทั้งกลุ่มที่เข้าเมืองโดยผิดกฏหมาย จะไม่มีมาตรการใดๆ รองรับทั้งการตรวจและรักษาโรค

นายพิจารณ์ ระบุอีกว่า หลายวันก่อน ตนเพิ่งจะลงพื้นที่ไปเยี่ยมประชาชนในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีแรงงานต่างขาติมากถึง 2 แสนกว่าราย (ซึ่งเกือบเท่าจำนวนแรงงานต่างขาติในประเทศสิงคโปร์) ภายในชุมชน 43 แห่งในจังหวัด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่ที่มีความแออัดและเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในลักษณะเดียวกับประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้ ยังพบว่าแรงงานต่างด้าวบางส่วนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย ดังนั้นรัฐบาลจึงควรมีแนวทางและมาตราการที่ชัดเจนในการดูแลคนกลุ่มนี้

โดยรัฐบาลควรกำหนดมาตรการที่ชัดเจน และผสมผสานทั้งในเชิงรุกและเชิงรับใน 6 มาตรการที่สำคัญ ดังต่อไปนี้ 1.การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันตนเองแก่แรงงานต่างชาติในภาษาที่หลากหลาย 2.การสร้างเครือข่ายนายจ้างในการติดตามดูแลสุขภาพของลูกจ้างต่างชาติ 3.การสนับสนุนเรื่องอาหารและความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่แรงงานต่างชาติที่ตกงานและไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้ 4.การสนับสนุนด้านสถานที่สำหรับแรงงานที่มีความจำเป็นในการกักตัวเอง 5.การดำเนินมาตรการเชิงรุกในการสุ่มตรวจหาเชื้อภายในชุมชนที่มีแรงงานต่างชาติอาศัยจำนวนมาก และ 6.การกำหนดมาตรการฉุกเฉินสำหรับการตรวจโรคและดูแลรักษาแรงงานต่างชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการของประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเข้าระบบการรักษาและลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อโรค ทั้งนี้ ข้อเสนอข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่รัฐบาลควรให้ความสนใจ กลุ่มคนที่หลากหลายและครอบคลุม ภายใต้สถานการณ์ไม่ปกติ เพื่อป้องกันมิให้เรื่องดังกล่าวกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image