‘นพ.ยง’ โพสต์ 12 ข้อ กับการตรวจภูมิต้านทานโควิด-19

แฟ้มภาพ

‘นพ.ยง’ โพสต์ 12 ข้อ กับการตรวจภูมิต้านทานโควิด-19

เมื่อวันที่ 26 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก “นพ.ยง ภู่วรวรรณ” ระบุว่า

โควิด 19 การตรวจภูมิต้านทาน

1. องค์การอนามัยโลกรายงานว่า การตรวจพบภูมิต้านทานไม่ได้เป็นเครื่องยืนยัน หรือเป็นใบเบิกทางถึงการป้องกันโรคที่จะไม่ให้เป็นซ้ำได้อีก
2. ภูมิต้านทานที่ตรวจมีทั้ง IgG และ IgM กว่าจะขึ้นให้ตรวจพบได้ ต้องใช้เวลา 1-2 อาทิตย์หลังมีอาการ ระบบภูมิต้านทานไม่ใช่มีเพียงแค่แอนติบอดี้ ยังมีระบบอื่นร่วมด้วย ตามทฤษฎีของภูมิคุ้มกันวิทยาที่เป็นแบบแอนติบอดี้และอาศัยเซลล์
3. องค์การอนามัยโลกได้ทบทวนการสร้างภูมิคุ้มกัน บางคนสร้างได้สูง บางคนสร้างได้ต่ำ
4. จากการศึกษาในปัจจุบัน (24 เมษายน 2563) ยังไม่มีรายงานใดที่จะบอกได้ว่าการมีภูมิต้านทานจะป้องกันไม่ให้เกิดโรคซ้ำได้อีก
5. การตรวจภูมิต้านทานที่อยู่ในท้องตลาดจำนวนมากเป็น Rapid test หรือตรวจได้อย่างรวดเร็ว จะต้องคำนึงถึงความถูกต้องของการตรวจ มีทั้งผล “บวกปลอม” และผล “ลบปลอม” ซึ่งจะสร้างความสับสนในการแปลผล
6. การตรวจภูมิต้านทานไม่สามารถเอามาใช้ในการวินิจฉัย การติดเชื้อของผู้ป่วยในระยะเริ่มแรกได้ ต้อง 1-2 อาทิตย์ไปแล้ว
7. การตรวจได้ผลลบไม่ได้บอกว่าผู้นั้นไม่มีการติดเชื้อ การตรวจหาเชื้อที่หลังโพรงจมูกยังเป็นวิธีมาตรฐาน ผู้ป่วยอาจจะติดเชื้อมีเชื้ออยู่แล้วแต่ภูมิต้านทานยังไม่ขึ้น ผู้ป่วยสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ในระยะนี้
8. การตรวจได้ผลบวก ก็ยังมีผล “บวกปลอม” เพราะยังมีไวรัสโคโรน่าตัวอื่นๆ อาจจะให้ผล “บวกปลอม”
9. ในการระบาดที่นิวยอร์กพบว่าครึ่งหนึ่งเป็นแบบไม่มีอาการ และการตรวจเชื้อจะพบได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ เมื่อติดตามแล้วมีจำนวนเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่มีอาการ และยังสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ (NEJM; April 24, 2020)
10. การตรวจกรองหาผู้ติดเชื้อจึงควรใช้วิธีการตรวจหาเชื้อมากกว่าที่จะใช้วิธีการตรวจหาภูมิต้านทาน ขณะนี้มีการนำเอาการตรวจหาภูมิต้านทานไปตรวจตามโรงงานเพื่อหาการติดเชื้อ จะไม่มีประโยชน์ในการค้นหาผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ เพื่อการควบคุมการแพร่กระจายของโรคโดยเฉพาะโรงงานหรือแหล่งชุมชน
11. การตรวจเกมรุกเพื่อหาผู้ติดเชื้อและลดการแพร่กระจายเชื้อจำเป็นจะต้องใช้วิธีตรวจหาเชื้อด้วยกระบวนการ PCR ถ้าบริหารจัดการให้ดี ในอนาคตค่าตรวจควรจะลดลงได้มากกว่านี้มาก ประเทศไทยสามารถพัฒนาชุดตรวจได้เอง อย่างที่กรมวิทย์ฯทำและแทนที่จะตรวจ 2 ยีนส์ ถ้าตรวจเกมรุกเป็นการตรวจกรอง อาจจะตรวจยีนส์เดียวก็พอ ถ้าให้ผลบวกแล้วจึงค่อยตรวจยืนยันอีกครั้งเหมือนการตรวจไวรัสตัวอื่นๆที่รู้จักดี เราก็ตรวจยีนส์เดียว โควิด 19 ปัจจุบันเป็นโรคที่รู้จักดีแล้วในการตรวจ
12. ข้อมูลรายละเอียดอ่านเพิ่มเติมได้จาก NEJM 24 April และ https://www.who.int/news-room/commentaries/detail/immunity-passports-in-the-context-of-covid-19
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ
26 เมษายน 2563″

 

Advertisement

โควิด 19 การตรวจภูมิต้านทาน1. องค์การอนามัยโลกรายงานว่า…

โพสต์โดย นพ.ยง ภู่วรวรรณ เมื่อ วันเสาร์ที่ 25 เมษายน 2020

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image