‘สมโภชน์’ ผนึกกำลังพันธมิตร ขานรับจดหมายนายก ตั้ง ‘กลุ่มช่วยกัน’ เปิดตัวแอพพ์ ‘หมอชนะ’

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ผู้ประกอบธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียนทั้งโรงไฟฟ้าโซลาร์และลม น้ำมันไบโอดีเซล ยานยนต์ไฟฟ้า โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นหนึ่งในนักธุรกิจที่ได้รับจดหมายเปิดผนึกจาก พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ถามถึงโครงการช่วยเหลือประชาชนชาวไทยที่เป็นรูปธรรม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เปิดเผยว่า จากมาตรการล็อกดาวน์ หรือปิดเมือง เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เบื้องต้นสามารถช่วยให้ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อดีขึ้น แต่สิ่งที่มีปัญหาคือ ด้านสังคมและเศรษฐกิจ โดยจะต้องหาวิธีสร้างให้เกิดความสมดุลมากขึ้น จึงสร้างกลุ่มช่วยกันขึ้นมา ภายใต้แนวคิดการทำงานแบบไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่อิงเรื่องการเมืองเพราะการทำงานแบบอิสระ จะสามารถทำให้คนเข้ามาร่วมใจกันทำงานได้มากที่สุด และทำงานด้วตความโปร่งใสตรวจสอบได้ ที่สำคัญคือ ไม่แย่งกันได้หน้า ต้องดูภาพใหญ่เป็นหลัก ว่ามีคนทำแล้วหรือยัง หากทำได้ดีแล้วก็เข้าไปช่วยสนับสนุน ไม่จำเป็นต้องเข้าไปทำซ้อนกัน เข้าไปทำในสิ่งที่ยังไม่มีใครทำดีกว่า โดยกลุ่มช่วยกัน มีเจตนารมณ์ชัด้จนในการเหลือกันให้ข้ามผ่านวิกฤตโควิด-19 จริงๆ เพราะหากสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว กลุ่มนี้ก็จะปิดตัวลงทันทีเนื่องจากการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาไม่ได้มีภาระแอบแผงใดทั้งสิ้น ทุกคนจะต้องมาช่วยกันแก้ไขปัญหาหลักคือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล หรือองค์กรอิสระ

นายสมโภชน์กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์โรคระบาด ต้องหาวิธีว่าจะอยู่กับโควิด-19 ได้อย่างไร เพราะกว่าจะค้นพบวัคซีนต้านไวรัสก็คงใช้เวลาประมาณ 1 ปี ถึง 1 ปี 6 เดือน หากปิดประเทศก็จะไม่มีข้าวกิน แต่หากเปิดประเทศก็อาจทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อขยายตัวมากขึ้นแบบเอาไม่อยู่ เพราะฉะนั้นจึงคิดขึ้นมาว่าจะมียุทธศาสตร์ในการทำงานที่จะสู้โควิด-19 อย่างไร โดยมี 3 มาตรการที่จะทำคือ 1.เพิ่มศักยภาพทางการแพทย์มากขึ้น หาวิธีทำอย่างไรให้แพทย์ปลอดภัย และมีอุปกรณ์ทางการแพทย์เพียงพอ เพื่อให้ประเทศไม่เหมือนกับประเทศสเปน อิตาลี หรือแม้กระทั่งอังกฤษซึ่งในปัจจุบันต้องเลือกแล้วว่าจะรักษาผู้ป่วยในเคสใด เลือกว่าจะให้ผู้ติดเชื้อรายใดรอดหรือไม่รอด 2.แทนที่จะรอให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ เพื่อให้คนมีความรู้และเข้าใจว่าโควิด-19 คืออะไร มีความน่ากลัวอย่างไร และเราควรจะป้องกันตนเองอย่างไร เพื่อไม่ให้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวได้ ซึ่งหากทำได้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็จะลดลง ตัวเลขที่จะวิ่งไปหาโรงพยาบาลก็จะน้อยลง 3.หากจะต้องอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ หรือหลังจากปลดล็อกมาตรการล็อกดาวน์แล้ว จะทำอย่างไรไม่ให้ตัวเลขพุ่งกระฉูดขึ้นอีก จึงคิดที่จะหาแอพพลิเคชั่นหรือเทคโนโลยีอะไรมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ผ่านการสร้างแอพพลิเคชั่นหมอชนะขึ้น เพื่อให้เมื่อเปิดเมืองแล้วสังคมจะต้องอยู่ได้ โดยได้หาวิธีทำอย่างไรให้การเปิดเมืองสามารถเปิดได้ในวงกว้าง และหากมีการติดเชื้อขึ้นก็ให้ติดเชื้อภายในวงแคบและเป็นเวลาสั้นๆ เท่านั้น ซึ่งหากทำอย่างนี้ได้จำนวนเชื้อผู้ติดเชื้อก็จะลดลง โรงพยาบาบก็จะไม่ล้น การใช้มาตรปิดเมืองก็จะต้องไม่ทำแบบหว่านแห เพื่อให้คนส่วนใหญ่สามารถใช้ชีวิตประจำวันในสังคมได้ตามปกติ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยไม่โดนล็อก สังคมที่เริ่มมีปัญหาก็จะเริ่มคลี่คลายลง

เริ่มต้นได้ทำการออกแบบ จัดซื้อ และติดตั้งอุปกรณ์กำจัดเชื้อโรคและเครื่องกรองอากาศ ในพื้นที่ส่วนกลางของโรงพยาบาล ห้องพักผู้ป่วยและสถานที่รองรับผู้ป่วยนอกโรงพยาบาล ตลอดจนรถพยาบาล ซึ่งจะช่วยปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วย ให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อหรือการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส และบุคลากรทางการแพทย์สามารถปฏิบัติหน้าที่สำคัญได้อย่างมั่นใจ โดยตั้งเป้าหมายกระจายความช่วยเหลือเบื้องต้น (ระยะแรก) ไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศ ได้แก่ ติดตั้งเครื่องกำจัดไวรัสแก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ 100 แห่ง ปรับปรุงห้องผู้ป่วยติดเชื้อ 1,000 ห้อง ปรับปรุงอาคารที่พักนอกโรงพยาบาลสำหรับผู้ติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรง 1,000 ห้อง ปรับปรุงรถพยาบาลเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ 500 คัน โดยเราต้องการปรับปรุงเตียงผู้ป่วย อุปกรณ์เคลื่อนที่ เพื่อให้แน่ใจว่าหากมีคนป่วยเข้ามาจะไม่เกิดวิกฤตขึ้นอีก โดยทุกคนเข้ามาลงแรงและลงเงินกันแบบไม่หวังอะไร โดยบริษัทได้ลงเงินส่วนตัวไปกว่า 50 ล้าน กับการนำความรู้และความสามารถที่มีอยู่ มาต่อยอดให้เป็นประโยชน์ โดยได้ร่วมสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและงานวิจัยเกี่ยวกับสาธารณสุขเป็นอย่างยิ่ง และสามารถผลิตชุดตรวจประสิทธิภาพสูงพีเอสยูโควิด-19 ที่มีคุณภาพเทียบเท่าระดับสากล ในต้นทุนการตรวจที่ต่ำและรู้ผลในทันทีนายสมโภชน์กล่าว

นายนิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ เป็นที่พึ่งหลักของประเทศมาตลอดกว่า 50 ปี ไม่ได้ความนิ่งนอนใจต่อความทุกข์และความไม่สงบสุขของประชาชนและสังคมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ บุคลากรทุกคนและภาคีเครือข่ายของ มอ. จึงได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อร่วมแก้ไขปัญหานี้ โดยเปิดเป็นศูนย์หลักของภาคใต้ในการดูแลผู้ป่วย พร้อมทั้งช่วยเหลือโรงพยาบาลในเครือข่ายภายใต้ทั้งหมด นอกจากนี้ได้มีการตั้งศูนย์บรรเทาช่วงและการช่วยเหลือสำหรับจัดเตรียมและส่งมอบเวชภัณฑ์ให้กับสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และในครั้งนี้ มอ.ได้ร่วมมือกับ กลุ่มช่วยกัน และเครือข่ายภาคี โดยอาสาเป็นกำลังหลักในการดูแลพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้อย่างเข้มแข็ง ทั้งในส่วนการสนับสนุนเวชภัณฑ์ การอำนวยความช่วยเหลือการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มห้องปลอดเชื้อในเขตภาคใต้ และพัฒนานวัตกรรมที่ใช้ได้จริงอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้ในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงการส่งเสริมและผลักดันการใช้แอปพลิเคชันหมอชนะในพื้นที่ภาคใต้อีกด้วย

Advertisement

นายสรายุทธ แก้วกุลปรีชา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมากทั้งด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ และขาดรายได้เพื่อยังชีพ จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือหรือวิธีการเพื่อทำให้สามารถเร่งรัดฟื้นฟูการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพให้กลับมาโดยเร็ว และสามารถปรับตัวให้อยู่กับโควิด-19 ที่จะยังคงอยู่กับเราไปอีกระยะใหญ่ อย่างน้อยคือถึงปีหน้า จึงเล็งเห็นว่าแอปพลิเคชั่นหมอชนะ เป็นเครื่องมือที่จะสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี จึงจะสร้าง “Chachoengsao Model” ขึ้นด้วยแผนการที่จะเป็นจังหวัดนำร่อง ในการรณรงค์ให้ข้าราชการ ประชาชน สถานศึกษา ภาคธุรกิจ สถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่ของจังหวัด พร้อมใจกันโหลดแอปพลิเคชัน หมอชนะ มาใช้ควบคู่กับมาตรการทางสาธารณสุข ได้แก่ การรักษาระยะห่างทางสังคม การรักษาสุขอนามัย เช่น การล้างมือให้สะอาด การสวมใส่หน้ากาก หลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับการตอบรับอย่างเต็มที่ เมื่อเราควบคุมความเสี่ยงได้ มีแผนรับมือกับโรคอย่างเป็นระบบ ปกป้องบุคลากรการแพทย์ได้ ก็จะนำไปสู่ขั้นตอนของการเปิดเมืองตามเป้าหมายได้อย่างปลอดภัย

แนวทางดังกล่าวทั้งหมดจะเป็นรูปแบบ และเป็นขั้นตอนตามสถานการณ์ในการต่อสู้กับเชื้อไวรัส ที่ยึดหลักความจริงว่า ประชาชนต้องดำรงชีวิตอยู่ได้ มีการประกอบอาชีพ เศรษฐกิจของไทยดำเนินต่อได้ โดยภาพรวมจะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าจีดีพีของประเทศหลายเท่าตัว หากไม่ป้องกันให้รัดกุมก่อนการเปิดเมือง อาจเกิดผลเสียหายอย่างรุนแรงที่ยากจะควบคุมได้ แต่หากร่วมมือกันจนเกิดผลสำเร็จ ประชาชนและเศรษฐกิจก็จะสามารถกลับมาสู่ภาวะปกติได้ตามสมควร และสามารถทำให้วิถีชีวิตของคนไทยและฟันเฟืองเศรษฐกิจและสังคมกลับมาดำเนินไปได้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้ โรงงาน อุตสาหกรรม ร้านค้า การบริการ เกษตรกร ตลอดจนการเดินทาง การท่องเที่ยว ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเริ่มมีชีวิตอีกครั้ง รวมถึงการเคลื่อนย้ายคน แรงงาน และการขนส่งระหว่างจังหวัด อำเภอตำบล และพื้นที่อื่นๆ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ สามารถกลับมาเปิดได้เหมือนเดิมในที่สุดนายสรายุทธกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image