‘อุตตม’ดันลงทุนเมืองการบินภาคตะวันออก ชี้โควิด-19 ไม่กระทบยันแล้วเสร็จปี’66

‘อุตตม’ประชุมอนุกรรมการอีอีซี ดันลงทุนเมืองการบินภาคตะวันออก ชี้โควิด-19 ไม่กระทบยันแล้วเสร็จปี’66

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีหรือ กพอ) กล่าวว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 2/2563 วันจันทร์ที่ 27 เมษายน 2563 โดยมี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ที่ประชุมพิจารณาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก  มีมติให้เร่งนำเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) โดยเร็วที่สุด ซึ่งมองว่าสถานการณ์โควิด-19 ไม่กระทบแผนการลงทุน และคาดว่าแผนงานวางไว้จะยังยืนยันแล้วเสร็จปี2566

นายคณิศ แสงสุพรรณ

“คาดว่าหลังโควิด -19 อุตสาหกรรมการบินจะกลับมา 50% ในช่วงครึ่งปีแรกปี 2564 และในปีหลัง 2564 กลับมา 70% ถือว่าดีช่วงนี้เป็นการเตรียมพร้อมด้านการลงทุนก่อสร้างเสร็จในช่วงที่พื้นตัวพอดี ซึ่งบริษัท การบินไทยจำกัด(มหาชน) ยังยืนยันทำโครงการนี้ต่อ จะไปหาผู้ร่วมทุนมาดำเนินการ แอร์บัสยืนยันว่าจะเข้ามาร่วมมือในเรื่องเทคโนโลยีต่อ”นายคณิศกล่าว

นายคณิศ กล่าวต่อว่า ในการประชุมกบอ. เห็นชอบโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนา เมืองการบินภาคตะวันออก  ในพื้นที่ 6,500 ไร่ บริเวณสนามบินอู่ตะเภา โดยมี 6 กิจกรรมสำคัญคืออาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 , ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน , ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ,เขตประกอบการค้าเสรี และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ,ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ ,ศูนย์ฝึกอบรมการบิน

Advertisement

ทั้งนี้การลงทุนของโครงการรวมเป็นเงินลงทุนรวมประมาณ 290,000 ล้านบาท หรือลงทุนไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งจากการศึกษาความเหมาะสมโครงการฯ รัฐได้ประโยชน์เพิ่มเติม คือได้ภาษีอากรเพิ่มมากกว่า 60,000 ล้านบาท ตรงนี้ไม่นับรวมรายได้ภาษีทางอ้อมกับธุรกิจเชื่อมโยงนอกเมืองการบินภาคตะวันออก และทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,640 ตำแหน่งต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก

นายคณิศ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในความสำคัญของเมืองการบินภาคตะวันออก อีอีซี วางยุทธศาสตร์ให้ เมืองการบินภาคตะวันออก ทำภารกิจสำคัญ 3 ประการคือ 1.เป็นสนามบินกรุงเทพฯ แห่งที่ 3  เชื่อมสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง 2.เป็นศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจเป้าหมายโดยเฉพาะการเป็น ศูนย์กลางอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว โลจิสติกส์ การบินของอีอีซี 3.เป็นศูนย์กลางของ มหานครการบินภาคตะวันออก ที่จะครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมือง ประมาณ 30 ก.ม. โดยรอบสนามบิน (เมืองพัทยา ถึง ตัวเมืองระยอง) ซึ่งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของการพัฒนา Eastern Seaboard ที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสำคัญของประเทศไทย  โดยเข้าเชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออก ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้สะดวกทั้ง ทางน้ำ (เรือและท่าเรือ) ทางบก (ทางด่วน รถไฟ และ รถไฟความเร็วสูง) และทางอากาศ (สนามบิน)

นายคณิศ กล่าวต่อว่า การทำงานคัดเลือกเอกชนร่วมทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ดำเนินการโดยคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ซึ่งมี ผบ.ทร.เป็นประธาน และมีกรรมการจากกระทรวงกลาโหม กระทรวงคมนาคม สำนักงบประมาณ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก  ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบและดำเนินการเจรจาสัญญาเสร็จสิ้น รวมเวลาทำงานประมาณ 1 ปี 6 เดือน โดยได้มีการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกทั้งหมด 17 ครั้ง และการประชุมคณะทำงานเจรจาสัญญาทั้งหมด 19 ครั้ง

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image