‘แคท’​ ลุ้น ครม. ไฟเขียว​ ดูแลกิจการดาวเทียมต่อจากไทยคม ยันศักยภาพ​พร้อมทุกด้าน

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท เปิดเผยว่า คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ด​ดีอี) ได้เห็นชอบให้แคท เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการทรัพย์สินที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)​ รับโอนหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานให้บริการดาวเทียมกับ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)​ ในเดือนกันยายน 2564 โดยเร็ว​ๆ นี้ กระทรวงดีอีเอสจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งหากได้รับอนุมัติจาก ครม. แคทจึงจะสามารถบริหารจัดการภาพรวมทั้งโครงการ

พ.อ.สรรพชัย กล่าวว่า ทั้งนี้ ได้จัดทำแผนบริหารจัดการดาวเทียมแห่งชาติแบบจีทูจีด้วยกระบวนการตามมาตรา 49 ของพระราชบัญญัติ​ (พ.ร.บ.)​ การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) นำเสนอผ่านคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ และบอร์ดดีอี แล้วเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 โดยแผนดังกล่าวครอบคลุมการเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ซึ่งอยู่ในขอบเขตความสามารถบริหารจัดการของแคท ทั้งการพิจารณาต่อยอดสินทรัพย์ดาวเทียมที่จะหมดอายุการใช้งานวิศวกรรมเพื่อการใช้งานระยะยาว โดยแคทได้เตรียมแผนบริหารดาวเทียมที่จะเหลือ 2 ดวงหลังสิ้นสุดสัมปทานคือไทยคม 4 และไทยคม 6 รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรรองรับงานในอนาคต

ทั้งนี้ แนวทางสำหรับดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ซึ่งมีอายุทางวิศวกรรมและพลังงานเชื้อเพลิงใช้ได้ถึงปี 2565 แคทประเมินว่าเป็นตำแหน่งดาวเทียมที่มีศักยภาพสูงรองรับลูกค้าไทยและต่างชาติ ควรรักษาไว้โดยร่วมทุนกับพันธมิตรในการจัดหาดาวเทียมดวงใหม่มาทดแทน และอาจส่งโดรนเติมเชื้อเพลิงเพื่อใช้งานต่ออีกระยะหนึ่งระหว่างรอการจัดหาดาวเทียมทดแทน

“หลังหมดอายุใช้งานทางวิศวกรรมในปี 2565 เราจะพยายามรักษา Slot นี้ให้อยู่กับประเทศไทยต่อไป โดยหากเราได้ดาวเทียมใหม่มาแทนที่ไทยคม 4 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้งานมานานกว่าสิบปี ดาวเทียมบรอดแบนด์ใหม่จะใช้เทคโนโลยีรุ่นใหม่ที่ประสิทธิภาพสูงขึ้นโดยมีต้นทุนทางเทคโนโลยีที่ลดลงซึ่งอาจส่งผลลดค่าบริการลงได้ ขณะที่จะสามารถขยายสัญญาณการให้บริการแก่ลูกค้าได้มากขึ้นทั้งไทยและต่างชาติ นอกจากเป็นการรักษาลูกค้าเดิมจึงสามารถขยายฐานลูกค้าเพิ่มโอกาสธุรกิจ อีกทั้ง ยังเป็นการช่วยภารกิจรัฐบาลที่จะได้รักษาตำแหน่งวงโคจรที่สำคัญนี้ไว้เพื่อความมั่นคงของกิจการดาวเทียมของประเทศ ทั้งนี้ แนวทางการบริหารดาวเทียมดังกล่าวหลังหมดสัมปทานหากสามารถดำเนินการได้เร็วจะช่วยให้ลูกค้าในระบบเกิดความมั่นใจในการใช้บริการต่อ เพราะที่ผ่านมาหลังจากไม่มีการยิงไทยคม 9 ทดแทน จึงทำให้ลูกค้าดาวเทียมไทยคม 4 ทยอยลดลง” พ.อ.สรรพชัย กล่าว

Advertisement

พ.อ.สรรพชัย กล่าวว่า สำหรับดาวเทียมดวงที่ 6 ซึ่งอยู่ในตำแหน่งเดียวกับไทยคม 5 เป็นตำแหน่ง Hot Bird ที่มีศักยภาพและมูลค่าธุรกิจสูงมาก ขณะนี้รับลูกค้าบริการบรอดคาสต์ที่โอนย้ายจากไทยคม 5 เต็มขีดความสามารถโดยรองรับผู้ชมโทรทัศน์ระบบดาวเทียมกว่า 15-16 ล้านรายและมีอายุการใช้งานถึงปี 2572 หลังจากนั้น แคทจึงจะสามารถดำเนินการด้านเอกสารข่ายงานดาวเทียมเพื่อจองตำแหน่งดาวเทียมและพัฒนาดาวเทียมใหม่ทดแทน โดยเป็นการช่วยรักษาตำแหน่งดาวเทียมนี้ไว้ต่อไปเพื่อการใช้ประโยชน์ในระยะยาวของประเทศ

สำหรับงานบริหารจัดการและควบคุมดาวเทียมในบางส่วนซึ่งมีความละเอียดอ่อนจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรเพิ่มความรู้ทักษะเฉพาะด้าน แคทจะพัฒนาบุคลากรโดยส่งพนักงานเข้าฝึกอบรมเตรียมความพร้อมในการบริหารสินทรัพย์อย่างต่อเนื่องหลังสิ้นสุดสัมปทาน

“เชื่อว่าดาวเทียมสื่อสารจะมีบทบาทสนับสนุนประเทศไทยให้พร้อมขับเคลื่อนทุกภาคส่วนด้วยดิจิทัล ซึ่งแคทพร้อมให้ความมั่นใจแก่ประชาชนว่าเราจะมีดาวเทียมใช้งานในอนาคตเพื่อช่วยในการพัฒนาประเทศไทย 4.0 ได้ทั่วถึงและครอบคลุมในทุกพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น โดยนอกจากไทยคม 4 และไทยคม 6 ดังกล่าว ยังเสริมด้วยการให้บริการจากเครือข่ายดาวเทียม LEO (Low Earth Orbit) ที่มีการใช้งานลักษณะกลุ่มดาวเทียม (Constellation) ครอบคลุมทั่วโลกกว่า 600 ดวง ซึ่งแคทอยู่ระหว่างดำเนินการโดยเป็นเครือข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำที่จะรองรับการพัฒนาโครงข่าย 5G อย่างเต็มศักยภาพ ของไทยด้วยคุณสมบัติสำคัญคือการส่งข้อมูลความเร็วสูงเกิน 400 เมกะบิต ความหน่วงต่ำกว่า 32 มิลลิวินาที และสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายอุปกรณ์อินเตอร์​เน็ต​ ออฟ ธิงส์ (ไอโอที)​, M2M (Machine to Machine) จำนวนมาก จึงสามารถเสริมประสิทธิภาพร่วมกับ 5G ภาคพื้นดินเพื่อครอบคลุมทุกพื้นที่สำหรับการพัฒนา 5G ของไทยอย่างเต็มรูปแบบ” พ.อ.สรรพชัย กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image