โควิด-19 ฉุดจีดีพีปี 63 ดิ่งติดลบ 10% หวั่นปลายปีระบาดระลอกใหม่ ทำศก.ปี 64 ฟื้นไม่ไหว

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยภายในการการแถลงข่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ร่วมกับ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ในหัวข้อมองประเทศไทยกับการรับมือ COVID-19 และ New normal หลังวิกฤตโรคระบาดว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ไทยทั้งปีนี้ หากติดลบเพียง 5% ถือว่าดีมากแล้ว เพราะจากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มอาจทำให้จีดีพีไทยติดลบกว่า 10% โดยย้ำว่าจีดีพีคือ ผลผลิตสินค้าและบริการที่ทำให้เกิดขึ้นในระยะเวลา 1 ไตรมาส หรือ 1 ปี ทำให้เมื่อมีการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมไวรัสโควิด-19 ก็ถือเป็นการล็อกดาวน์จีดีพีไปด้วย จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากในเชิงนโยบายที่ต้องดูมให้ดีว่า ผลกระทบหรือต้นทุนทางด้านเศรษฐกิจจะสูงเท่าใด โดยหากดูตัวเลขของประเทศที่พัฒนาแล้ว จะเห็นว่าการเติบโตของจีดีพีในไตรมาส 2/2563 จะหายไปประมาณ 30-40% ซึ่งประเทศไทยก็คงเป็นภาพคล้ายกับประเทศเหล่านั้น จึงมองว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่านึกว่ามีน้อยเพราะความจริงแล้วผลกระทบเกิดขึ้นสูงมาก โดยผลกระทบจำนวนมากนี้ถูกประเมินไว้ในกรณีที่มีการล็อกดาวน์เพียง1-2 เดือน แล้วทยอยฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน เป็นต้นไป ซึ่งการล็อกดาวน์เพียง 2 เดือนก็มีการประเมินผลระทบและความเสียหายไว้สูงมากแล้ว

เป็นไปได้สูงมาก หากปลายปีมีเหตุการณ์โควิด-19 กลับมาระบาดระลอก 2 ขึ้น เหมือนที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ออกมาเปิดเผยว่า หากมีการระบาดระลอก 2 เกิดขึ้น จีดีพีปี 2563 จะติดลบ 6% ทั่วทั้งโลก และหากต่อเนื่องจนถึงปี 2564 ก็จะทำให้จีดีพีติดลบต่อแทนที่จะกลับมาฟื้นตัวปรับเพิ่มขึ้น 5% ทำให้ตัวเลขความเสียหายของเศรษฐกิจยังเป็นปลายเปิดอยู่ โดยเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ ในขณะนี้ถูกดับในทุกด้าน เพราะขณะนี้ก็สนับสนุนการทำงานที่บ้าน เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งหากอยู่บ้านการทำผลผลิตทางจีดีพีก็แทบไม่เกิดขึ้นภาพรวมครึ่งหนึ่งไม่สามารถทำได้ จึงยังยืนยันว่าต้นทุนของการล็อกดาวน์มีสูงมาก ทำให้เห็นภาพของทั่วโลกพยายามกลับมาเปิดเศรษฐกิจ ทั้งที่ความเสี่ยงของโควิด-19 ยังมีอยู่ จึงเป็นเรื่องที่ลำบากและท้าทายมาก ในการหาวิธีทำอย่างไรให้สามารถเปิดเศรษฐกิจได้ และยังควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อไม่ให้ท่วมระบบ สาธารณสุขได้นายศุภวุฒิกล่าว

นายศุภวุฒิกล่าวว่า สำหรับการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศไทย เป็นสิ่งที่ต้องเริ่มดำเนินการ เนื่องจากการล็อกดาวน์เป็นระยะเวลานานจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ โดยกรณีที่ล็อกดาวน์และปิดประเทศเป็นระยะเวลา 1 เดือน ประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อหลายๆ ธุรกิจ อาทิ ส่งออก ติดลบ 5%, ท่องเที่ยว ติดลบ 30-40%, อุตสาหกรรม

ยานยนต์ ติดลบ 20%, อสังหาริมทรัพย์ ติดลบ 20-30% ส่วนกรณีที่มีการล็อกดาวน์เป็นระยะเวลามากกว่า 1 เดือน จะยิ่งส่งผลกระทบต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น โดยการผ่อนคลายให้บางธุรกิจกลับมาเปิดดำเนินการได้ยังคงต้องมีมาตรการยับยั้งการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด ทั้งการตรวจหาผู้ติดเชื้อ การกักตัวกลุ่มเสี่ยง รวมถึงการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด แม้มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาลที่ออกมาจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และผลกระทบต่อสังคมได้ แต่สิ่งสำคัญคือ การทำให้ภาคการผลิตเริ่มกลับมาเดินได้ตามปกติ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัวได้จากการบริโภคภายในประเทศและแข็งแกร่งขึ้นในระยะยาว

Advertisement

จากเหตุการณ์โรคระบาดครั้งนี้ ประเมินว่าจะเกิดนิว นอร์มอล ขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว โดยจะเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น อาทิ อาจเห็นการท่องเที่ยวแบบเช่าเครื่องบินเหมาลำเป็นกลุ่มเล็ก เพราะต้องการความปลอดภัยในด้านสุขภาพ และยังมีความจำเป็นต้องรักษาระยะห่างทางสังคมเพื่อจำกัดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของโลกหลังโควิด-19 เกิดขึ้น จะทำให้ห่วงโซ่อุปทานของโลกถูกบีบให้เล็กลง เนื่องจากผู้ประกอบการจะไม่กล้ากระจายการผลิตไปทั่วโลกโดยไม่คำนึงถึงความมั่นคงทางสุขภาพ หากประเทศไทยต้องการเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานใหม่ที่เล็กลง มองว่าความสามารถและความมั่นคงด้านสาธารณสุขจะเปรียบเสมือนตั๋วผ่านเข้าไปยังห่วงโซ่อุปทานใหม่ หากเข้าไปได้คาดว่าจะมีเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับดีขึ้นได้ นอกจากนี้ รัฐบาลควรประเมินภาพใหญ่ว่า ต้องการให้ประเทศไปยืนอยู่ในจุดใดในเศรษฐกิจโลกใหม่ และแปลงโจทย์ดังกล่าวกลับมาเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ เพื่อชี้นำให้หน่วยงานระดับล่างจัดทำโครงการที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันขึ้นมา อาทิ การให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการแพทย์ หลังการท่องเที่ยวเชิงปริมาณในปัจจุบันมีแนวโน้มราคาสูงขึ้น และอาจทำไม่ได้ดีแล้วเหมือนที่ผ่านมา รวมถึงไม่มีกำไรเท่ากับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยที่มีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง ถือว่ารัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีจากความเข้มงวดในการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ ปิดเมือง และควบคุมการเดินทางเข้าและออกประเทศ รวมถึงการติดตามกลุ่มเสี่ยง ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับการประเมินความสามารถในการรับมือกับโรคระบาดได้ดีเป็นอันดับ 6 ของโลก แต่สถานการณ์ในปัจจุบันยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ว่าโควิด-19 จะไม่กลับมาระบาดอย่างรวดเร็วอีกครั้ง เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง อาทิ การเข้าสู่ฤดูฝน ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ โดยมองว่าโรงพยาบาลควรเตรียมความพร้อมด้านมาตรการความปลอดภัยและบริการทางการแพทย์ เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป

นายแพทย์บุญ ขณะที่ผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยคนกลุ่มนี้เมื่อติดเชื้อแล้วมีโอกาสที่อาการจะรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าประชากรในวัยอื่นๆ จึงมีแนวโน้มว่าจะเกิดความต้องการของผู้ให้บริการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ที่มีมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มงวด เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ โดยปัจจุบัน THG มีโครงการ Jin Wellbeing County และโรงพยาบาลธนบุรี บูรณา ที่มีบริการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ที่มีความต้องการ และมีมาตรการคัดกรองผู้เข้าออกอย่างเข้มงวด โดยคาดว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลต่อวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนที่เป็นรูปแบบใหม่มากขึ้น เกิดความระมัดระวังและมีวินัยในการรักษาสุขอนามัยเพิ่มขึ้น ลดการทำกิจกรรมนอกบ้านและรักษาระยะห่างทางสังคม จึงมีแนวโน้มเห็นการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และการนำมาตรการใหม่ๆ มาปรับใช้ เพื่อความปลอดภัยของคนไข้ อาทิ การพัฒนาเทคโนโลยีการฆ่าเชื้อ เทคโนโลยีที่ช่วยลดระยะเวลาในการอยู่โรงพยาบาลเพื่อตอบสนองพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป

Advertisement

การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการปิดเมือง ควรดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยยังคงต้องมีมาตรการป้องกันและการรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างเข้มงวด ขณะที่ความต้องการด้านการรักษาพยาบาลภายในประเทศและจากกลุ่มเมดิคอลทัวริสซึม มั่นใจว่ายังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง เพราะแพทย์ไทยมีศักยภาพด้านการรักษาพยาบาลและมีชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงค่าบริการที่สมเหตุสมผล จึงถือว่าศักยภาพของการแพทย์ไทยมีความพร้อมให้บริการแก่ชาวต่างชาติอย่างเต็มที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image