‘แคท’​ เร่งเจรจา​พันธมิตร​ ให้บริการเครือข่ายดาวเทียมวงโคจร​ต่ำ

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตร 2-3 ราย เพื่อให้บริการจากเครือข่ายดาวเทียมวงโคจร​ต่ำ ที่มีการใช้งานลักษณะกลุ่มดาวเทียมครอบคลุมทั่วโลกกว่า 600 ดวง โดย​แบ่ง​เป็น 2 บริการ ได้แก่ การให้บริการเช่าสถานีฐานควบคุมดาวเทียม และเป็นตัวแทนจำหน่าย ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปทั้ง 2 ส่วนภายในไตรมาส 3/2563 ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นดาวเทียมต่างชาติ จึงต้องรอหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาตการประกอบกิจการดาวเทียมต่างชาติ (แลนดิ้งไรท์)​ จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

“แคทอยู่ระหว่างดำเนินการโดยเป็นเครือข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำที่จะรองรับการพัฒนาโครงข่าย 5G อย่างเต็มศักยภาพ ด้วยคุณสมบัติสำคัญคือการส่งข้อมูลความเร็วสูงเกิน 400 เมกะบิต ความหน่วงต่ำกว่า 32 มิลลิวินาที และสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายอุปกรณ์อินเตอร์​เน็ต​ ออฟ ธิงส์ (ไอโอที)​, อุปกรณ์​ต่ออุปกรณ์​ (เอ็มทูเอ็ม)​ จำนวนมาก จึงสามารถเสริมประสิทธิภาพร่วมกับ 5G ภาคพื้นดินเพื่อครอบคลุมทุกพื้นที่สำหรับการพัฒนา 5G ของไทยอย่างเต็มรูปแบบ” พ.อ.สรรพชัย กล่าว

พ.อ.สรรพชัย กล่าวว่า ส่วนกรณีที่คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ด​ดีอี)​ ได้เห็นชอบให้แคทเป็นผู้รับผิดชอบการบริหารจัดการทรัพย์สินที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)​ รับโอนหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานให้บริการดาวเทียมกับ บริษัท ไทยคม​ จำกัด (มหาชน)​ ในเดือนกันยายน 2564 ขณะนี้ อยู่ระหว่างรอกระทรวงดีอีเอสเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆ นี้​ ซึ่งหากได้รับอนุมัติจาก ครม. จึงจะสามารถบริหารจัดการภาพรวมทั้งโครงการ

“เรายืนยันความพร้อมในการบริหารจัดการดาวเทียม โดยบริษัทมีประสบการณ์ในการทำดาวเทียมมากกว่า 50 ปี ทำให้มีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีสถานีฐานจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ จ.นนทบุรี, อ.ศรีราชา​ จ.ชลบุรี​ และจ.อุบลราชธานี​ ประกอบกับมีความพร้อมด้านบุคลากร​ทั้งด้านเทคนิค​และกฎหมาย​ ส่วนด้านการบริหารจัดการ และควบคุมดาวเทียมในบางส่วนซึ่งมีความละเอียดอ่อนจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรเพิ่มความรู้ทักษะเฉพาะด้าน ซึ่งแคทจะพัฒนาบุคลากรโดยส่งพนักงานเข้าฝึกอบรมเตรียมความพร้อมในการบริหารสินทรัพย์อย่างต่อเนื่องหลังสิ้นสุดสัมปทาน ซึ่งต้องส่งบุคลากร​ไปฝึกอบรม​กับไทยคม จำนวน 24 คน ในเดือนกันยายน 2563” พ.อ.สรรพชัย กล่าว

Advertisement

พ.อ.สรรพชัย กล่าวว่า ทั้งนี้ ได้จัดทำแผนบริหารจัดการดาวเทียมแห่งชาติแบบจีทูจีด้วยกระบวนการตามมาตรา 49 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)​ การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) โดยนำเสนอผ่านคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติและบอร์ด​ดีอีแล้วเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 โดยแผนดังกล่าวครอบคลุมการเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ซึ่งอยู่ในขอบเขตความสามารถบริหารจัดการของแคท ทั้งการพิจารณาต่อยอดสินทรัพย์ดาวเทียมที่จะหมดอายุการใช้งานวิศวกรรมเพื่อการใช้งานระยะยาว โดยแคทได้เตรียมแผนบริหารดาวเทียมที่จะเหลือ 2 ดวงหลังสิ้นสุดสัมปทานคือไทยคม 4 และ 6 รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรรองรับงานในอนาคต

ขณะที่ แนวทางสำหรับดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ซึ่งมีอายุทางวิศวกรรมและพลังงานเชื้อเพลิงใช้ได้ถึงปี 2565 ประเมินว่าเป็นตำแหน่งดาวเทียมที่มีศักยภาพสูงรองรับลูกค้าไทยและต่างชาติ โดยอาจส่งโดรนเติมเชื้อเพลิงเพื่อใช้งานต่ออีกระยะหนึ่งระหว่างรอการจัดหาดาวเทียมทดแทน

สำหรับดาวเทียมดวงที่ 6 ขณะนี้รับลูกค้าบริการบรอดคาสต์ที่โอนย้ายจากไทยคม 5 เต็มขีดความสามารถโดยรองรับผู้ชมโทรทัศน์ระบบดาวเทียมกว่า 15-16 ล้านรายและมีอายุการใช้งานถึงปี 2572 หลังจากนั้น แคทจะสามารถดำเนินการด้านเอกสารข่ายงานดาวเทียม เพื่อจองตำแหน่งดาวเทียมและพัฒนาดาวเทียมใหม่ทดแทน โดยเป็นการช่วยรักษาตำแหน่งดาวเทียมนี้ไว้ต่อไปเพื่อการใช้ประโยชน์ในระยะยาวของประเทศ

Advertisement

“ส่วนแผนบริหาร​จัดการ​ดาวเทียมไทยคม 4 และ 6 จะมีการประเมินหลังจากมีการฝึกอบรมกับไทยคม หากเราทำเองได้ 100% ก็ไม่จำเป็นต้องมีพันธมิตร” พ.อ.สรรพชัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image