มุมมองนักวิชาการ เข้าภาคี”ซีพีทีพีพี”เหมือนเหรียญ2ด้าน ให้ทั้งคุณและโทษ  

นายอัทธ์ พิศาลวานิช  ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ความคิดเห็นต่อความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ว่า  เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ ข้อตกลง CPTPP ก็เช่นกัน ที่มีทั้งบวกและลบ โดยส่วนตัวเห็นว่า ประการแรก ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมในการเจรจา CPTPP หรือเข้าร่วม CPTPP เพราะปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศขณะนี้คือ “โควิด” ที่กระทบเศรษฐกิจในวงกว้างทั้งรายได้คนไทย การว่างงาน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และหลังจากนี้ไปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ไม่มีใครรู้ ที่แน่ๆ คือ ศักยภาพการแข่งขันของ เอสเอ็มอีไทย เปลี่ยนไปในทิศทางที่อ่อนแอลงจากผลกระทบของโควิด

ประการต่อมา ยังมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หากเดินหน้าต่อความขัดแย้งทางความคิดจะมีมากขึ้น หากไม่ร่วม CPTPP ใน 11 ประเทศสมาชิก CPTPP มี 9 ประเทศไทยมี FTA แล้วสามารถใช้สิทธิ FTA เดิมได้ อีกสองประเทศคือแคนาดาและเม๊กซิโกที่ยังไม่มี FTA ซึ่งไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปสองประเทศนี้ไม่เกิน 2%

อีกประเด็นที่น่ากังวลคืออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ( UPOV 1991) ที่ไทยต้องเป็นสมาชิกอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรืออนุสัญญายูพอฟ 1991 ซึ่งมีความกังวลว่าเกษตรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองได้ และอาจถูกผูกขาดเมล็ดพันธุ์จากบริษัทต่างชาติจนทำให้เมล็ดพันธุ์มีราคาแพง เกษตรกรรายย่อยจะได้รับผลกระทบ

รวมถึงประเด็นคือ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ : ปัจจุบันกฎหมายไทยยังไม่ได้ให้แต้มต่อกับบริษัทหรือเอกชนไทย ทั้งๆ ที่บริษัทไทยช่วยเศรษฐกิจไทยและจ้างคนไทยโดยตรง ประเด็นนี้บริษัทไทยน่าจะเสียเปรียบ

Advertisement

ประการสุดท้าย คือ เวียดนามเป็นคู่แข่งสินค้าเกษตร ซึ่งได้เปรียบไทยด้านต้นทุนการผลิต ผลผลิตต่อไร่ และกำลังยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปเป็น 4.0 ในขณะที่ประเด็นพันธุ์พืชใหม่ เวียดนามไม่กังวลเพราะมีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ๆ เพื่อการส่งออกอยู่แล้ว เช่น พันธุ์ข้าวส่งขายอินโดนีเซีย  ดังนั้น การทำความเข้าใจและนำเสนอข้อเท็จจริงกับคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นสิ่งสำคัญที่สุดขณะนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image