สมาพันธ์เอสเอ็มอีเผยสินเชื่อรัฐเข้าถึงลำบาก วอนตั้งกองทุนพยุงเฉพาะเอสเอ็มอี-หนุนปรับตัวรักษาแรงงาน
น.ส.โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวถึงมาตรการด้านสินเชื่อของภาครัฐว่า แม้รัฐบาลจะมีมาตรการสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี กลุ่มไมโครเอสเอ็มอี แต่ยอมว่ามาตรการเหล่านี้ผู้ประกอบกอบการยังเข้าถึงไม่มากนัก เนื่องจากหลักเกณฑ์การพิจารณาของสถาบันการเงินยังเน้นกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีความคุ้นเคย มีความน่าเชื่อถือ ส่วนกลุ่มที่ไม่มีประวัติ ลูกค้าใหม่จะมีความเสี่ยง ประกอบกับยังมีหลักเกณฑ์การกู้ที่ค่อนข้างเข้มงวด ไม่ได้ผ่อนคลายมากนัก ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องให้ภาครัฐช่วยเหลือด่วน เพราะตอนนี้ผู้ประกอบการทุกรายต้องช่วยเหลือตนเอง ต้องดูแรงงาน กระทรวงแรงงานไม่ได้เข้ามาช่วย เพราะกิจการไม่ได้ปิด
น.ส.โชนรังสี กล่าวว่า หากต้องการให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่ออย่างทั่วถึง เพื่อประคองธุรกิจให้รอดในช่วงนี้ รัฐบาลควรกันวงเงินส่วนหนึ่งพร้อมกำหนดให้ชัดเจนเลยว่าสำหรับช่วยเอสเอ็มอี กล่มไมโครเอสเอ็มอีจริงๆ อาทิ วงเงิน 5 แสนบาท ถึง 1 ล้านบาทสำหรับไมโครเอสเอ็มอี อาทิ พวกแม่ค้าที่ไปร้องเรียนขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาทของกระทรวงการคลัง ถัดมาก็กลุ่มที่วงเงินเพิ่มขึ้นมานิดนึง 3 ล้านบาท อีกกลุ่ม 5 ล้านขึ้นไป พร้อมให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)เข้าค้ำประกันสินเชื่อในสัดส่วนที่สูงขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 40% โดยวงเงินอาจตั้งเป็นกองทุนเหมือนกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ ที่รัฐบาลเคยดำเนินการ
น.ส.โชนรังสี กล่าวว่า นอกจากนี้เมื่อธุรกิจเริ่มกลับมาผลิตได้ วิกฤตโควิด-19คลี่คลาย รัฐบาลควรมีวงเงินสินเชื่อระยะ2 เพื่อให้ธุรกิจใช้ในการปรับตัว เพราะหลายธุรกิจอาจดำเนินการต่อไปไม่ได้ ต้องปรับ หรือเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่นเลย ต้องเพิ่มทักษะแรงงาน ต้องลงทุนเครื่องมือ อุปกรณ์ เรื่องนี้หากมีวงเงินสนับสนุนแยกต่างหากจะช่วยเอสเอ็มอีปรับตัวได้มากทีเดียว