ธปท.แจงกรอบลงทุนและบริหารความเสี่ยงของกองทุนตราสารหนี้  เป็นเพียงโรงพยาบาลสนาม

ธปท.แจงกรอบลงทุนและบริหารความเสี่ยงของกองทุนตราสารหนี้ เป็นเพียงโรงพยาบาลสนาม

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการกำกับกองทุน เปิดเผยว่า ในวันที่ 29 เมษายน  คณะกรรมการกำกับกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) ได้ออกประกาศเรื่อง นโยบาย แนวทางการดำเนินงาน กรอบการลงทุน และกรอบการบริหารความเสี่ยงของกองทุน BSF ตาม พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ว่าด้วยการจัดตั้งกองทุน BSF นั้น สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

ตราสารหนี้ภาคเอกชนที่กองทุนจะลงทุนได้ ต้องเป็นหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทองจดทะเบียนและประกอบธุรกิจในประเทศไทย แต่ไม่รวมรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน หรือบริษัทที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจของสถาบันการเงิน นอกจากนั้นต้องเป็นบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับลงทุนได้ (investment grade) อย่างต่ำที่ระดับ BBB- หรือเทียบเท่า และอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารต้องเป็น investment grade เช่นเดียวกัน อีกทั้งบริษัทดังกล่าวต้องจัดหาแหล่งเงินทุนอื่นมาแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด เป็นต้น

สำหรับรูปแบบการให้ความช่วยเหลือของกองทุน BSF จะสนับสนุนสภาพคล่องส่วนที่เหลือหลังจากระดมทุนจากแหล่งอื่นมาแล้ว ซึ่งเป็นเพียงการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น อายุไม่เกิน 270 วัน ด้วยต้นทุนการกู้ยืมจากกองทุน BSF ที่สูงกว่าอัตราการกู้ยืมในตลาด เพื่อให้ธุรกิจพยายามหาแหล่งเงินทุนอื่นก่อนที่จะมาขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ

นอกจากนี้ เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว บริษัทต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของกองทุน BSF เช่น เงินที่ระดมทุนได้ต้องนำไป rollover หุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดเท่านั้น ห้ามชำระคืนหนี้ให้แก่กรรมการ เจ้าของและผู้ถือหุ้น หรือห้ามจ่ายเงินปันผล เพื่อให้เป็นไปตามกรอบการลงทุนที่มีธรรมาภิบาลที่ดี

Advertisement

สำหรับบริษัทที่ต้องการขอความช่วยเหลือจากกองทุน BSF สามารถยื่นขอต่อเลขานุการคณะกรรมการลงทุน โดยระบุเหตุผลความจำเป็นในการขอรับความช่วยเหลือ พร้อมเอกสารตามที่กำหนดก่อนที่ตราสารจะครบกำหนดไถ่ถอนไม่น้อยกว่า 45 วัน

“การจัดตั้งกองทุน BSF ดังกล่าว เพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ เพื่อช่วยให้ภาครัฐมีเครื่องมือไว้พร้อมใช้ในกรณีจำเป็น เปรียบได้กับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามไว้รองรับกรณีที่การระบาดเพิ่มขึ้นจนโรงพยาบาลหลักไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้เพียงพอ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมให้มี last resort ในการเข้าไปช่วยเสริมสภาพคล่อง โดยไม่ได้ช่วยทั้งหมดหรือช่วยทุกรายที่เข้ามาขอรับความช่วยเหลือ ถ้ามีคนมาใช้น้อยก็จะยิ่งดี เพราะหมายความว่าตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนทำหน้าที่ได้ตามปกติ “ นางสาววชิรา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image