“จุรินทร์” สั่ง พม.ขับเคลื่อน 4 แผน ดันเท่าเทียมระหว่างเพศ เป็นรูปธรรม

“จุรินทร์” สั่ง พม.ขับเคลื่อน 4 แผนส่งเสริมเท่าเทียมระหว่างเพศ ให้เป็นรูปธรรม

เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ กระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ
(สทพ.) LGBT ครั้งที่ 3/2563
ภายหลังการประชุม นายจุรินทร์ ประธานในที่ประชุม  ให้สัมภาษณ์ ว่า
ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งมีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นฝ่ายเลขานุการ วันนี้มีประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง 1.ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งเป็นแผนงานที่จะได้กำหนดไว้ในช่วงระยะเวลา 3 ปีนับตั้งแต่ปี 2563- 2565 โดยแผนงานสำคัญประกอบด้วย 4 แผนหลัก
แผนงานที่ 1. แผนส่งเสริมให้สังคมปรับหลักคิดและส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแล้ว และการตระหนักในความเท่าเทียมระหว่างเพศหลักคิดที่ว่าคือยอมรับความแตกต่างระหว่างเพศ
แผนงานที่ 2. แผนส่งเสริมให้มีการสร้างพลังให้เกิดขึ้นแก่เพศสภาพไม่ว่าจะเป็นพลังในทางเศรษฐกิจ บทบาทต่อสาธารณะ หรือว่าในเรื่องของการส่งเสริมภาวะผู้นำก็ตาม
แผนงานที่ 3 แผนส่งเสริมให้ทุกองค์กรมีนโยบายกฏระเบียบและกลไกต่างๆที่เอื้อต่อการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และ
แผนงานที่ 4. แผนส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรมในการสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศได้จริงในสังคมมี 4 แผนงานหลักซึ่งจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป
 นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องที่ 2 การที่คณะกรรมการชุดนี้มีนโยบาย ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศให้เกิดขึ้นในภาคปฏิบัติได้จริงจึงมีแนวทางในการรวบรวมองค์กรต่างๆไม่ว่าจะเป็นภาครัฐเอกชน หรือสถาบันการศึกษามาร่วมกันลงนามประกาศเจตนารมณ์ในการที่จะส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศให้เกิดขึ้นได้จริง  ซึ่งขณะนี้ได้มีองค์กรต่างๆ รวม 24 องค์กรด้วยกันเป็นองค์กรของรัฐ 4 องค์กรสถาบันการศึกษา 5 องค์กร และองค์กรเอกชน 15 องค์กรมาร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศให้เกิดขึ้น  ซึ่งขณะนี้มีหลายองค์กร ที่ได้เริ่มดำเนินการให้เกิดผลในทางปฎิบัติชัดเจนขึ้นมาเป็นรูปธรรมแล้ว  ยกตัวอย่าง เช่นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งขณะนี้ได้มีการออกประกาศเพื่อส่งเสริมการดำเนินการในเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม  รวมทั้งมีการกำหนดแผนงานรองรับในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมามีการตั้งคณะทำงานติดตามประเมินผลเพื่อให้เกิดการปฏิบัติได้จริง รวมทั้งมีการปรับปรุงโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมต่างๆรวมทั้งห้องสุขาเพื่อให้สามารถรองรับในทุกเพศสภาพได้ในสภาวะของความเป็นจริง  ถือว่ามหาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาลัยการศึกษาหนึ่งที่เป็นต้นแบบ สำหรับการที่จะให้องค์กรต่างๆไปดำเนินการเพื่อให้เกิดผลในทางปฎิบัติได้ต่อไปด้วย
และตนได้สั่งการให้กระทรวง พม.ได้ไปดำเนินการหาความร่วมมือองค์กรต่างๆนอกเหนือจาก 24 องค์กร เพื่อประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันเพิ่มเติม และ 24 องค์กรที่ลงนามร่วมกันไปแล้วนั้นก็ให้ติดตามเพื่อให้เกิดผลทางปฏิบัติเพิ่มเติมได้อย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ เช่นที่ธรรมศาสตร์ได้เหมือนกันไป
และพรรคประชาธิปัตย์ก็จะเป็นองค์กรที่ 25 ในฐานะหัวหน้าพรรคก็ได้แสดงเจตนารมณ์ต่อกระทรวง พม.ไปแล้วว่าเราพร้อมที่จะร่วมลงนามสนับสนุนในเรื่องของการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศด้วยเป็นองค์กรที่ 25 ร่วมกับองค์กรที่ พม.จะไปประสานงานเพิ่มเติมมาในการลงนามชุดต่อไป
ด้านนางสาว รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวเพิ่มว่า การขยายผลการประกาศเจตนารมย์เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศนี้ จะทำควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนมาตรการในการป้องกันและแก้ไขการละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน 12 ข้อ เช่น กรณีมีการร้องเรียนให้แต่งตั้งคณะทำงาน จำนวนไม่เกิน 5 คน หรือให้กลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรมดำเนินการสอบข้อเท็จจริง  และหน่วยงานต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนและผู้เป็นพยาน และต้องให้การคุ้มครองผู้ร้องเรียนไม่ให้ถูกกลั่นแกล้ง ซึ่งมาตรการทั้งหมดได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว ในส่วนของภาคราชการ ตั้งเป้าให้ทุกระทรวง/กรม ร่วมแสดงเจตนารมณ์พร้อมกัน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image