โควิด-19 ฉุดดัชนีเอ็มพีไอปี 63 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ไทยคุมได้ แต่ตปท.ยืดเยื้อ

โควิด-19 ฉุดดัชนีเอ็มพีไอปี 63 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แม้ในประเทศเริ่มคุมโรคได้ แต่ตปท.ยังยืดเยื้อ พร้อมประเมินอีกครั้งอีก 3 เดือนข้างหน้า ชี้อุตฯอาหารเริ่มขยายตัว หลังความต้องการทั่วโลก

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ได้ปรับลดประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) ปี 2563 ทั้งปีติดลบ 6-7% เทียบจากเดือนม.ค.ที่ผ่านมาคาดว่าทั้งปีขยายตัว 2-3% นับเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่เริ่มมีการคำนวณดัชนีเอ็มพีไอเมื่อเดือนม.ค. 43 และอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม(จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรม คาดว่าติดลบ 5.5-6.5% จากเดิมคาดว่าขยายตัว 1.5-2.5% เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ออกไปเป็นวงกว้าง และยังควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ แม้ว่าปัจจัยในประเทศเริ่มผ่อนคลายในทิศทางที่ดีขึ้น

“เบื้องต้น สศอ. มองว่าเศรษฐกิจในประเทศช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จะเริ่มชัดเจนว่า สามารถกลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จากการควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ได้ค่อนข้างดี แต่ยังต้องประเมินเศรษฐกิจต่างประเทศที่ยังไม่สามารถควบคุมโรคระบาดได้ ซึ่งอาจจะยืดเยื้อไปถึงสิ้นปี จึงต้องรอประเมินสถานการณ์ของต่างประเทศอีกครั้ง คาดว่าใน 2-3 เดือนข้างหน้าจะชัดเจนมากขึ้นว่าจะส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยอีกแค่ไหน จากปัจจุบันสัดส่วนการผลิตของไทยมีการจำหน่ายในประเทศและส่งออกประมาณ 50 ต่อ 50 ซึ่งหากสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติก็มั่นใจว่าจะสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้” นายทองชัยกล่าว

สำหรับดัชนีเอ็มพีไอเดือนมี.ค.63 อยู่ที่ระดับ 102.79 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.25% เนื่องจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ปัญหาภัยแล้ง และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อเนื่องมายังการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการลดลงจากอุตสาหกรรมหลัก เช่น การผลิตรถยนต์เดือนมี.ค.ลดลง 26.16% ต่ำที่สุดในรอบ 11 เดือนตั้งแต่เดือนพ.ค.2562 ทั้งการจำหน่ายในประเทศหดตัว 41.74% และการส่งออกหดตัว 23.71% ส่งผลให้ดัชนีรถยนต์หดตัว 24.56% ดัชนีอุตสาหกรรมน้ำตาลหดตัว 68.93% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้งจึงมีปริมาณอ้อยเข้าโรงงานลดลง

Advertisement

ขณะที่ความต้องการอาหารจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะอาหารพร้อมทาน ทำให้การส่งออกอาหารกลับมาขยายตัวเป็นเดือนแรกในรอบ 8 เดือน โดยการส่งออกอาหารเดือนมี.ค.ขยายตัว 0.8% ทำให้ผู้ประกอบการในบางอุตสาหกรรม อาทิ อาหารแปรรูป ได้ปรับเพิ่มการผลิตสินค้าให้เข้ากับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป สะท้อนได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 67.22% เพิ่มขึ้นเทียบกับเดือนก่อนอยู่ที่ 66.06%

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image