‘เอไอเอส’​ เดินเครื่อง 5G เพื่อการแพทย์ ช่วยคนไทยก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ​เอไอเอส​ เปิดเผย​ว่า เอไอเอสได้ดำเนินภารกิจ​เร่งด่วน​ โดย​นำเครือข่าย​ 5G ที่เหมาะสมในการเป็นโครงข่ายดิจิทัลพื้นฐานสำหรับการปฏิบัติงานทางการแพทย์ เพื่อช่วยเหลือคนไทยและช่วยประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตไวรัสโควิด-19 อาทิ การติดตั้งเครือข่าย 5G ในโรงพยาบาลที่รับตรวจและรักษาผู้ป่วยโควิด-19, การส่งมอบหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ 5G โรบอตฟอร์แคร์ เพื่อช่วยดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งได้ส่งมอบจำนวน 18 ตัว ให้กับโรงพยาบาล 17 แห่งแล้ว โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างเร่งพัฒนาและส่งมอบทั้งหมด 23 ตัว ให้กับโรงพยาบาล 22 แห่ง ภายในเดือนพฤษภาคม 2563

นายสมชัยกล่าวว่า สำหรับครั้งนี้ เอไอเอส ได้นำ 5G มาช่วยยกระดับศักยภาพการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 ให้กับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์อย่างเต็มรูปแบบ โดยครอบคลุมตั้งแต่การนำ 5G เข้ามาเพิ่มขีดความสามารถให้กับเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์โดยตรง เพื่อทำให้อุปกรณ์ทางแพทย์สามารถทำงานและแสดงผลได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น ประกอบกับสนับสนุนการพัฒนาระบบประมวลผลปัญญาประดิษฐ์​ (เอไอ)​ บนเครือข่าย 5G สำหรับเครื่องซีทีสแกนปอด เครื่องแรกของไทย ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยได้รวดเร็วและแม่นยำขึ้นหลายเท่าตัว, การมอบหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ 5G โรบอทฟอร์แคร์ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยตรวจรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 ช่วยรักษาระยะห่าง เพื่อปกป้องทั้งทีมแพทย์และผู้ป่วยให้ปลอดความเสี่ยงโควิด-19

รวมถึงการนำแอพพลิเคชั่น​เกี่ยวกับบริการพบแพทย์ออนไลน์ เข้ามาเชื่อมต่อกับระบบปรึกษาแพทย์ผ่านทางไกลจากที่บ้าน โดยที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาล ซึ่งช่วยในการคัดกรองผู้ป่วย แบ่งเบาภาระให้กับทีมแพทย์ อีกทั้งเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน ทั้งยังได้นำ 5G มาสนับสนุนการเรียนการสอนแบบสมาร์ทคลาสรูม ของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อประโยชน์ด้านการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์

Advertisement

“ทั้งหมดนี้จะสร้างประโยชน์ต่อการรักษาพยาบาลในปัจจุบัน โดยมีโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นโมเดลต้นแบบของการรักษาพยาบาลผ่านเทคโนโลยี 5G และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการต่อยอดวิจัยและพัฒนาในอนาคต เตรียมความพร้อมสู่ความปกติในรูปแบบใหม่ (นิวนอมอล) วงการแพทย์ไทยหลังยุคโควิด-19 ซึ่งเราก็ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง เพื่อจุดประกายและส่งต่อองค์ความรู้เทคโนโลยี 5G เพื่อการแพทย์สู่สังคมไทย” นายสมชัย กล่าว

ทั้งนี้ 5G เทเลเมดดิซีน โซลูชัน​ เพื่อสนับสนุนบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ประกอบด้วย 1.นำ 5G สนับสนุนการพัฒนาระบบประมวลผลเอไออัจฉริยะสำหรับเครื่องซีทีแปอด บนเครือข่าย 5G เครื่องแรกของไทย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องซีทีสแกนให้สามารถส่งภาพปอดที่มีไฟล์ขนาดกว่า 300 เมกะไบต์ ขึ้นไปได้อย่างรวดเร็ว โดยระบบเอไอจะทำการเปรียบเทียบภาพปอดของผู้ป่วย โควิด-19 และประมวลผลว่าปอดของผู้ป่วยคนนี้ มีแนวโน้มที่จะติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ และอยู่ในระยะไหน ซึ่งให้ผลแม่นยำถึง 96% และช่วยลดเวลาทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างมาก จากเดิม 1 ชั่วโมง เหลือเพียง 30 วินาที

2.ส่งมอบหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์ 5G โรบอทฟอร์แคร์ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยแพทย์ในการดูแลพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 โดยนำเทคโนโลยี อาทิ เทคโนโลยีอินฟราเรด ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายได้อย่างแม่นยำ, เทคโนโลยีสร้างแผนที่​สามมิติ​ กำหนดแผนที่เส้นทางเดินของหุ่นยนต์ ให้เคลื่อนที่เข้าหาผู้ป่วยได้โดยอัตโนมัติ, เทเลเมดดิซีน ระบบปรึกษาทางไกลระหว่างแพทย์และผู้ป่วยผ่านวิดีโอคอลเพื่อให้แพทย์ที่อยู่ด้านนอกห้องใช้สมาร์ทดีไวซ์ เชื่อมต่อมาที่ตัวหุ่นยนต์ เพื่อพูดคุยและดูอาการคนไข้ภายในห้องพักได้

Advertisement

3.สนับสนุนสมาร์ทดีไวซ์, เครือข่าย และแอพพลิเคชัน แบบครบวงจร เพื่อเสริมประสิทธิภาพบริการปรึกษาแพทย์ทางไกล ด้วยระบบวิดีโอคอล ซึ่งถูกนำไปใช้งานที่ศูนย์บริการโควิด-19 คอลเซ็นเตอร์​ ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยร่วมกับแอพพลิเคชัน ME-MORE (มีหมอ) ซึ่งเป็นแอพพลิเคชัน​พบแพทย์ออนไลน์ ที่ให้คนไข้หรือผู้สงสัยว่ามีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถปรึกษาแพทย์ทางไกลจากที่บ้านได้โดยไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล

4.นำ 5G มาสนับสนุนการเรียนการสอนแบบสมาร์ท​คลาสรูม ของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยนำเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยสร้างห้องเรียนอัจฉริยะเพื่อเสริมประสิทธิภาพการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษาคณะต่างๆ ทั้งการเรียนในห้องเรียนที่มีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (โซเชียล ดิสแทนซิ่ง)​ และการเรียนออนไลน์ รวมทั้งการฝึกปฏิบัติแบบเรียลไทม์ให้มีประสิทธิภาพ ที่จะช่วยประเมินการเรียนการสอนระหว่างอาจารย์และนักศึกษา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image