คพ. แจง การฟื้นฟูคลิตี้ ไม่ได้ละเลยความปลอดภัยสิ่งแวดล้อม-ประชาชน

คพ. แจง การฟื้นฟูคลิตี้ ไม่ได้ละเลยความปลอดภัยสิ่งแวดล้อม-ประชาชน 

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวว่าชาวบ้านชุมชนคลิตี้ยื่นคำร้องศาลปกครอง ให้สั่งระงับการดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ และสั่งให้ คพ.และผู้ที่เกี่ยวข้องปรับปรุงการดำเนินการให้เหมาะสม หลังพบว่าผู้รับเหมาโครงการละเลยมาตรการความปลอดภัยสิ่งแวดล้อม และประกอบกับมาตรการจำกัดการเดินทางของภาครัฐในช่วง COVID-19 ระบาด ทำให้ชาวบ้านขาดแคลนอาหารจนกระทั่งต้องใช้น้ำและกินปลาจากลำห้วยตามที่มีการอ้าง ข่าวดังกล่าวที่กล่าวอ้างว่าชาวบ้านชุมชนคลิตี้ยื่นคำร้องศาลปกครอง นั้น ได้รับการยืนยันมาจากชาวบ้านคลิตี้บนและคลิตี้ล่าง ว่าเกิดการดำเนินการจากบุคคลภายนอกพื้นที่ ที่มีเจตนาเผยแพร่นำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ ทั้งในรูปแบบบทความผ่านเวบไซต์และสื่อโซเชียลต่างๆ เพื่อให้ชุมชนเกิดความขัดแย้งและการดำเนินการฟื้นฟูต้องหยุดชะงัก ขณะนี้ทางชาวบ้านทั้งคลิตี้บนและคลิตี้ล่างได้ยื่นหนังสือต่อศาลปกครองกลาง และสำเนาให้ คพ. เพื่อให้รับฟังข้อเท็จจริง ให้ความเป็นธรรม ที่จะให้การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ดำเนินการต่อไปตามมติของชาวบ้าน

นายประลอง กล่าวว่า การขุดลอกตะกอนด้วยการดูดตะกอนในลำห้วยเป็นวิธีการมาตรฐานที่มีการดำเนินการมาแล้วในพื้นที่ปนเปื้อนหลายแห่งทั่วโลก และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียส่วนใหญ่ก็ยังได้มีมติเลือกแนวทางในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ด้วยการดูดตะกอน (hydraulic dredging) เนื่องจากเห็นว่าการเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการบำบัดสูงสุดและมีความเสี่ยงในการที่ลำห้วยจะกลับมาปนเปื้อนใหม่น้อยที่สุด แต่เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่อาจเกิดขึ้นในบางจุด คพ.จึงได้ให้บริษัทผู้รับจ้าง ดำเนินการมาตรการต่างๆ ประกอบด้วย

1) การจัดหาเครื่องมือวัดการเอียงตัวแบบดิจิตอล (digital Inclinometer) เพื่อติดตามตรวจสอบอัตราการพังทลายของดินริมตลิ่ง 2) การปรับพื้นที่ในบริเวณที่มีการวางพักถุง geotextile ให้มีระดับและสภาพใกล้เคียงกับสภาพเดิม 3) การขนส่งตะกอนปนเปื้อน จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด กฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างเคร่งครัด 4) การตรวจนับและจัดทำบัญชีระบุปริมาณตะกอน 5) การใช้เส้นทางการขนส่งตามที่ระบุไว้ในแบบรูปรายการละเอียดเท่านั้น 6) การติดตั้งม่านดักตะกอนเพื่อเป็นการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการฟุ้งกระจายจากการดูดตะกอน ม่านดักตะกอน 7) กำหนดช่วงเวลาการขุดลอกตะกอนด้วยการดูดเฉพาะในช่วงแล้งเท่านั้น 8) ผู้รับจ้างต้องจัดหาน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภคให้ประชาชน รวมทั้งสัตว์เลี้ยงที่ประชาชนได้เลี้ยงไว้ระหว่างที่มีการดูดตะกอน และ 9) กำหนดจุดตรวจสอบความขุ่นของน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยหากพบว่าความขุ่นของน้ำในลำห้วยมีการเปลี่ยนแปลงไปจากสภาพธรรมชาติมากกว่าร้อยละ 10 ให้หยุดการขุดลอกชั่วคราวจนกว่าความขุ่นของน้ำจะกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับสภาพธรรมชาติ

นายประลอง กล่าวต่อว่า เนื่องจากการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในลักษณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการมาก่อนในประเทศไทยและสภาพพื้นที่ดำเนินการของกรณีห้วยคลิตี้นั้นเป็นลำห้วยบนภูเขา ที่มีตลิ่งสูงชันและอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ไม่สามารถใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ ไม่มีไฟฟ้า และไม่มีสัญญาณสื่อสาร คพ. กับที่ปรึกษาควบคุมงาน และผู้รับจ้างได้มีการประยุกต์ข้อมูลจากต่างประเทศและปรับปรุงเทคนิคในการดูดตะกอนและมาตรการเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการปรับปรุงรูปแบบของอุปกรณ์ดูดตะกอน การติดตั้งม่านดักตะกอน พร้อมทั้งปรับปรุงวิธีการเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำที่ซึมออกจากถุงบรรจุตะกอนไหลกลับลงสู่ลำห้วยโดยตรงด้วยการจัดทำระบบรวบรวมและพักน้ำที่ซึมออกจากถุงบรรจุตะกอนก่อนปล่อยคืนลงสู่ลำห้วยด้วยบ่อตกตะกอน ได้มีการตรวจสอบความขุ่นของลำห้วยอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน ในส่วนที่มีน้ำและตะกอนที่ไหลกลับลงสู่ลำห้วยจะเกิดขึ้นเฉพาะในกระบวนการดูดตะกอนออกจากลำห้วย น้ำที่ไหลคืนลงสู่ลำห้วยดังกล่าวไม่อาจนำมาเปรียบเทียบกับมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมตามที่มีการกล่าวอ้างได้ เพราะว่าน้ำและตะกอนที่ไหลลงห้วยดังกล่าวจะถูกดูดขึ้นกลับมาอีกครั้งจากกระบวนการดูดตะกอน ซึ่งผู้รับจ้างก็ได้วางแผนการดำเนินการจนกว่าจะดูดตะกอนในลำห้วยให้หมดไปจากท้องน้ำ

Advertisement

เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อชาวบ้านที่อาจมีการใช้น้ำในลำห้วยในช่วงเวลาการฟื้นฟู คพ.ได้ประสานกับกรมทรัพยากรน้ำและผู้รับจ้างในการจัดทำระบบประปาภูเขาและระบบกระจายน้ำ โดยครอบคลุมชาวบ้านทุกหลัง อีกทั้งผู้รับจ้างยังได้มีการแจกจ่ายน้ำดื่มให้กับชาวบ้านโดยมีการตั้งจุดรับน้ำดื่มซึ่งชาวบ้านสามารถมารับได้ทุกวัน ในส่วนของมาตรการจำกัดการเดินทางของภาครัฐในช่วง COVID-19 ระบาด ยังอนุญาตให้มีการขนส่งอาหารและน้ำดื่มจากพื้นที่อำเภอทองผาภูมิเข้าไปสู่พื้นที่คลิตี้ได้ ภาวะการณ์ดังกล่าวจึงไม่ได้ทำให้ชาวบ้านขาดแคลนอาหารจนกระทั่งต้องใช้น้ำและกินปลาจากลำห้วยตามที่มีการอ้าง อีกทั้งจากการสำรวจของ คพ. พืชผักที่ชาวบ้านปลูกเพื่อใช้ในการบริโภคในบริเวณบ้านของชาวบ้านเองนั้นไม่เคยมีการพบการปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานอาหารของกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้นที่มีการกล่าวอ้างว่าชาวบ้านถูกกักตัวจนต้องกินพืชผักในพื้นที่จนตะกั่วในเลือดเกินค่ามาตรฐานนั้นจึงไม่เป็นความจริง

“อย่างไรก็ตาม คพ. ขอน้อมรับความคิดเห็นของนักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ออกมาเรียกร้องให้มีการควบคุมการดำเนินงานของผู้รับจ้างให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด โดยจะนำข้อคิดเห็นไปปรับปรุงการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วของ คพ. ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป และขอยืนยันว่าจะผลักดันให้การฟื้นฟูพื้นที่แล้วเสร็จตามความคาดหวังของชุมชนโดยเร็ว” นายประลอง กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image