กรมสุขภาพจิต เผย “คนกินเหล้า-สูบบุหรี่” น้อยลง เพราะ ไม่ค่อยมีเงิน รองมาคือต้องการดูแลสุขภาพ

กรมสุขภาพจิต เผย “คนกินเหล้า-สูบบุหรี่” น้อยลง  เพราะ ไม่ค่อยมีเงิน รองมาคือต้องการดูแลสุขภาพ

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงสถานการณ์วิกฤติโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ โควิด-19 ในกลุ่มวัยทำงาน

นพ.จุมภฏ กล่าวว่า ในบางครั้งคนวัยทำงาน/วันแรงงาน มักจะมีพฤติกรรมเสี่ยงที่ไม่พึงประสงค์ ก่อให้เกิดโรค ผลกระทบที่เกิดในช่วงเวลานี้ พบว่า 1 ในปัญหาของการระบาดโรคโควิด-19 คือ การตั้งวงดื่มสุรา ดังนั้นทางศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ได้ทำการสำรวจประชาชนในช่วง 18-19 เมษายน จำนวน 1,566 ราย พบว่า ผู้ที่ไม่ได้ดื่มเลยมีร้อยละ 48.5 ผู้ที่ดื่มน้อยลงมีร้อยละ 33.0 ผู้ที่ดื่มเท่าเดิมมีร้อยละ 18.2 และดื่มบ่อยขึ้นมีจำนวนร้อยละ 0.3 โดยมีเหตุผลหลักที่ทำให้ดื่มน้อยลงคือ 1.หาซื้อไม่ได้ หาซื้อยาก 2.กลัวการติดเชื้อ 3.รายได้น้อยลง ไม่มีเงินซื้อ และ 4.ต้องการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง

“จะพบว่าประชาชนเกือบร้อยละ 50 ที่ไม่ได้ดื่มเลย ในสถานการณ์ที่มีโรคระบาดก็ยังมีข้อดี โดยเป็นการปรับตัวอย่างหนึ่งซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้สภาพความเครียดดีขึ้น และพบว่าอุบัติเหตุทางถนนในเดือนเมษายนของปีพ.ศ. 2563 ลดลงจาก ปีพ.ศ.2562 มากถึง 1.อุบัติเหตุ ลดลง 4 หมื่นราย 2.ผู้เสียชีวิต ลดลง 500 ราย และ 3.ผู้บาดเจ็บพิการ ลดลง 210 ราย ทั้งนี้เป็นการประหยัดเงินให้กับประเทศในการสูญเสียเงินกับสุราจากปีละ 8.5 หมื่นล้านบาท หากคนไทยสามารถหยุดเหล้าได้ตลอดปี 50% เหลือเพียง 4.25 หมื่นล้านบาท หากไม่มีสถานการณ์ของโควิด-19 การลดลงเช่นนี้จะเป็นเรื่องดีต่อสุขภาพคนไทย” นพ.จุมภฏ กล่าว

นอกจากนี้ นพ.จุมภฏ กล่าวว่า การดื่มสุราเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อและอาการรุนแรงของโควิด-19 ได้แก่ 1.ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง 2.ลดความสามารถของร่างกายในการรับมือกับโรค 3.ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน(ARDS) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่สุดของโรคโควิด-19 4.ความคิด การตัดสินใจและพฤติกรรมแย่ลง 5.ทำให้เกิดการบาดเจ็บและความรุนแรง และ 6.เพิ่มความวิตกกังวลและทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า

Advertisement

นพ.จุมภฏ กล่าวว่า พฤติกรรมการสูบบุหรี่ของวัยแรงงาน ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 พบว่า มีผู้ที่สูบบุหรี่ลดน้อยลงมีสัดส่วนเกือบร้อยละ 20 แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง มีเพียงร้อยละ 6-10 มีสูบบุหรี่มากขึ้น และมีผู้ที่เลิกสูบบุหรี่แล้วกลับมาสูบใหม่อีกครั้งไม่ถึงร้อยละ 1 ปัจจัยที่สำคัญในการสูบบุหรี่น้อยลง คือ 1.รายได้ลดลง 2.ต้องการดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ดี ส่วนผู้ที่สูบบุหรี่มากขึ้นอาจจะเกิดจากความเครียด แต่หากจัดการความเครียดได้ดีปัญหานี้ก็จะหมดไป เนื่องจากการสูบบุหรี่ไม่ใช่การแก้ปัญหาด้านความเครียดที่ยั่งยืน นอกจากนั้นการสูบบุหรี่ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการรับเชื้อโควิด-19 ด้วยการนำมือไปสัมผัสกรองบุหรี่ และการการสัมผัสกับริมฝีปาก รวมไปถึงสภาพการทำงานของปอดไม่ดี โรคถุงลมโปงพอง เป็นต้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image