‘เมย์แบงก์’ เชื่อ ‘กองทุนบีเอสเอฟ’ หนุนบริษัทจดทะเบียนเคลื่อนธุรกิจ-ช่วยรักษาเสถียรภาพได้

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า โครงการกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (บีเอสเอฟ) วงเงินกว่า 4 แสนล้านบาท ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้รับผิดชอบนั้น เบื้องต้นมองว่าจัดตั้งออกมาเพื่อช่วยเหลือบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย ที่ออกหุ้นกู้และมีอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) อยู่ในกลุ่มพอใช้ได้ขึ้นไป เนื่องจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจแย่ทำให้บริษัทที่มีหุ้นกู้ หากจะทำการต่ออายุหุ้นกู้ที่ครบกำหนดแล้ว (rollover) จะไม่มีนักลงทุนเข้าซื้อต่อ ซึ่งอาจทำให้ภาพรวมการเงินของบริษัทนั้นๆ ชะงักไป จึงมองว่าการจัดตั้งกองทุนบีเอสเอฟขึ้นมา น่าจะเป็นหนึ่งเครื่องมือที่เข้ามาช่วยรักษาเสถียรภาพของบริษัทที่ยังมีฐานะอันดับความน่าเชื่อถือไม่ได้แย่มากนัก เพราะเงื่อนไขของธปท. ไม่ได้ช่วยเหลือแบบหว่านแหไปทุกบริษัท แต่ช่วยบริษัทที่ออกหุ้นกู้แล้วมีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับอินเวสต์เมนต์ เกรด หรือกลุ่มระดับลงทุนเรทติ้งตั้งแต่ AAA จนถึง BBB- เป็นหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทที่มั่นคง ผลประกอบการดี อยู่ในกลุ่มที่น่าลงทุนจริงๆ เพื่อช่วยให้สภาพคล่องของบริษัทต่างๆ ที่เข้าเกณฑ์สามารถขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง

ความจริงแล้วการจัดตั้งกองทุนบีเอสเอฟ ถือเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวมาก เพราะหากพิจารณาจะพบว่า มีความขัดแย้งกับแนวความคิดในการออกโครงการกองทุนดังกล่าว โดยมองว่าภาพของธปท. ไม่ควรเข้ามาเล่นในการพยุงหุ้นกู้ หรือตราสารหนี้ แต่ในภาวะที่ตลาดกำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่มากจริงๆ หากภาครัฐมีมาตรการอะไรเข้ามาช่วยพยุงก่อนในระยะหนึ่ง ก็พอไปได้ เพราะหากไม่มีอะไรเข้ามาช่วยเลย บริษัทในภาคธุรกิจ ก็คงไม่รู้จะนำเงินทุนจากที่ใดมาขับเคลื่อนธุรกิจต่อไป เพราะกุญแจสำคัญคือ ไม่ได้ช่วยมั่วซั่ว แต่ช่วยเฉพาะบริษัทที่มีหุ้นในระดับดีขึ้นไปเท่านั้นนายวิจิตรกล่าว

นายวิจิตรกล่าวว่า สถานการณ์ตลาดหุ้นกู้ในตอนนี้ ตัวที่กำลังจะครบกำหนดมีจำนวนมาก และธุรกิจที่ออกหุ้นกู้เพื่อนำเงินไปขับเคลื่อนธุรกิจ ต้องยอมรับว่าเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างมาก ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นจริง ก็ถือว่ามีความเสี่ยงอยู่ในระดับหนึ่ง หากสายป่านธุรกิจไม่ยาวพอ โดยการที่ธปท. ออกกองทุนบีเอสเอฟ เพื่อช่วยพยุงตลาดตราสารหนี้ แต่ความจริงแล้วสัดส่วนของตลาดตราสารหนี้มีขนาดใหญ่มากกว่านี้หลายเท่า ทำให้การจะช่วยพยุงได้มากหรือน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับจะมีบริษัทที่กำลังต่ออายุหุ้นกู้ที่ครบกำหนดแล้ว (rollover) มากน้อยเท่าใด เป็นเม็ดเงินใหญ่ขนาดไหน แต่เชื่อว่าเม็ดเงิน 4 แสนล้านบาท คงไม่ได้เพียงพอในการพยุงตลาดได้นานมากนัก หากจำเป็นจะต้องใช้เม็ดเงินเหล่านี้มาพยุงสัญญาหุ้นกู้ที่กำลังจะหมดอายุ แต่หากเป็นหุ้นกู้ของธุรกิจอสังหาฯ ก็มีนักลงทุนให้ความสนใจซื้อน้อย เพราะทุกคนรู้ว่าขณะนี้บ้านขายไม่ออก ทำให้มีความเสี่ยงอยู่มาก โดยหากเศรษฐกิจกลับมาได้เร็วๆ ก็น่าจะพอลุ้นได้บ้าง แต่หากเศรษฐกิจยังเป็นในลักษณะนี้ต่อไป ก็คงจะเหนื่อยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ามีออกมาช่วยก็ดีกว่าไม่มีอะไรออกมาช่วยเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image