ถอดบทเรียน 9 จว.อยู่อย่างปลอดโควิด

ถอดบทเรียน 9 จว. อยู่อย่างปลอดโควิดž

 

ไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 อาวะวาดแพร่ระบาดไปทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อกว่า 3 ล้านคน เสียชีวิตทะลุ 2 แสนคน ประเทศยักษ์ทั้งด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี ยอดป่วยพุ่งสูงอย่างไม่น่าเชื่อ สำหรับประเทศไทยแม้สถานการณ์กำลังดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ช่วงแรกของการแพร่ระบาดก็มีตัวก้าวกระโดดน่าตกใจเช่นกัน

ตลอด 2 เดือนเศษที่ประเทศไทยได้รู้จักโควิด-19 มี 9 จังหวัดต้องบันทึกไว้ด้วยความชื่นชม พิจิตร กำแพงเพชร น่าน บึงกาฬ สิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง ตราด ระนอง สามารถรักษาพื้นที่สีขาวปลอดไวรัสโควิด-19 ไม่สามารถเจาะเข้าพื้นที่ได้

อะไรเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุม ปกป้องเขตจังหวัด “เชาวลิตร แสงอุทัย” ผู้ว่าฯกำแพงเพชร เฉลยว่า การรับมือโควิด-19 ได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากรัฐบาลออกมาตรการในการป้องกัน ทางจังหวัดก็ได้มีการวางมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ออกประกาศเตือนประชาชน ปิดสถานที่เสี่ยงทั้งหมด ประชุมวางแผนมีการทำบัญชีคนเข้าออกจังหวัด หากเป็นไปได้ก็ขอข้อมูลต้นทาง เช่น ขึ้นเครื่องบินเข้ามา ต้องถามชื่ออะไรบ้าง ขึ้นรถ บขส. มีตรวจบัตรหรือไม่ หรือดักทางให้ทุกคนกรอกบัญชีว่าไปไหนมาอย่างไร แล้วตามไปดูที่พัก มีการตั้งด่านตรวจคัดกรอง บังคับใช้ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ วางแผนตามสถานการณ์ต้องคาดเดาไปก่อน 2 ก้าว เช่น อาทิตย์หน้าจะเกิดอะไรขึ้น อีก 3 วันจะเป็นอย่างไร มีการประชุมศูนย์โควิด-19 ในจังหวัดเกือบทุกวัน

Advertisement

นอกจากนี้ ยังห้ามจัดกิจกรรมที่ให้คนมารวมตัวกัน คนเข้าออกพื้นที่มีการเฝ้าระวังกันอย่างเข้มข้น ในทุกชุมชน ทุกหมู่บ้าน มีตาสับปะรดเฝ้าระวังทุกจุด รวมถึงรายละเอียดยิบย่อยมากมายที่เป็นมาตรการของจังหวัดซึ่งมีหลายกระบวนการมาก หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมมือบังคับใช้ประกาศอย่างจริงจัง ที่สำคัญคือความร่วมมือของประชาชนชาวกำแพงเพชรร่วมใจกันยับยั้งการแพร่ระบาดปฏิบัติตามข้อกำหนด จนสามารถป้องกันโควิด-19 ไว้ได้

ขณะที่ “สิริรัฐ ชุมอุปการ” ผู้ว่าฯพิจิตร กล่าวถึงที่มาความสำเร็จในการสู้กับการแพร่ระบาดว่า ในช่วงแรกของการแพร่ระบาดทางจังหวัดได้รณรงค์ให้ประชาชนดูแลตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัย แล้วล้างมือ กินร้อนช้อนกลาง และทิ้งระยะห่าง ตั้งแต่ต้นปลายเดือนกุมภาพันธ์จนถึงขณะนี้ มีการตั้งด่านเฝ้าระวังตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม เป็นด่านถาวร จำนวน 6 จุดดำเนินการต่อเนื่องอย่างเข้มข้น

ขณะเดียวกัน ยังตั้งด่านชั้นในและตั้งด่านหมู่บ้าน โดยให้ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน อสม อปพร. คณะกรรมการหมู่บ้าน สำรวจไล่มาตั้งแต่ญาติของผู้ที่เข้ามาเฝ้าระวัง ได้จัดชุดเคลื่อนที่เร็วของตำรวจและฝ่ายปกครอง คอยเฝ้าติดตาม

ผู้ว่าฯพิจิตรยังกล่าวถึงการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคมว่า จ.พิจิตร จะคงมาตรการเข้มข้นและยิ่งต้องทำงานเชิงรุกมากกว่าเดิม โดยจะมีการสั่งให้ทุกอำเภอไปสุ่มตรวจหมู่บ้านในชุมชนที่มีประชาชนแออัด หรือสุมตรวจโรงงานขนาดเล็กขนาดกลาง หรือแรงงานต่างด้าวที่มีการทำงานจำนวนมาก ต้องตรวจทุกคนที่ทำงานใกล้ชิด ขณะนี้ได้เริ่มแล้ว สิ่งสำคัญคือ ความเข้มแข็งและความร่วมมือ ต้องจับมือกันไว้ เชื่อว่า จ.พิจิตร จะต้องไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด

ด้าน “เรวัต ประสงค์” ผู้ว่าฯอ่างทอง ระบุว่า เริ่มต้นด้วยสุขอนามัยภายในครอบครัว สถานที่ทำงาน และพื้นที่สาธารณะ โดยเน้นย้ำการทำความสะอาด ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ เริ่มตั้งแต่หัวหน้าส่วนราชการไล่ลงไปเรื่อยๆ จนถึงผู้นำชุมชน กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน จากนั้นก็จะเข้าถึงชุมชน ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้าน จากนั้นเริ่มขยับเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ ที่เข้าข่ายว่า ถ้าชาวบ้านไปแล้วจะเป็นพื้นที่กระจายเชื้อโรค ตลาดทุกประเภทสั่งหยุดหมด

ส่วนการเฝ้าระวังและการคัดกรองต่างๆ จังหวัดอ่างทองมีจุดคัดกรองโดยรอบจังหวัดทั้งหมด 11 จุด มีเจ้าหน้าที่ส่วนราชการต่างๆ โดยเฉพาะหมอ อสม. จิตอาสา ทหาร ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ ทุกคนแทบจะต้องทำงานกันตลอด 24 ชั่วโมง ใครไม่ได้เข้าเวรจุดคัดกรอง ก็ไปทำงานประจำ บางคนทำงานประจำเสร็จ ต้องมาเข้าเวรจุดคัดกรองต่ออีก จ.อ่างทอง เราปฏิบัติแบบนี้มาแต่ต้น ไม่เคยเปลี่ยนแปลง และจะดำเนินการไปตลอดทำตามคำสั่งของ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19

สำหรับความสำเร็จของ จ.ตราด “ว่าที่ร้อยตรีพิเชียน ลิมป์หวังอยู่” ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ บอกเล่าแผนปฏิบัติการว่า มาจากการเตรียมความพร้อมและเกาะติดสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และมีการประชุมชี้แจงเพื่อให้ความรู้ในการป้องกันการแพร่ระบาด พร้อมกำหนดมาตรการก่อนที่รัฐบาลจะได้มีข้อสั่งการออกมา โดยใช้คณะกรรมการโรคติดต่อของจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการในเบื้องต้น

สิ่งสำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยน คือ การตัดสินใจในการควบคุมกิจกรรมการรวมตัวของชาวตราดและกิจกรรมต่างๆ ทั้งหมด ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนตั้งแต่เริ่มต้น และเมื่อเริ่มมาตรการที่เข้มงวดมาขึ้นชาวตราดก็ให้ความร่วมมืออย่างดี โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างสังคม การสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน การทำงานอยู่ที่บ้าน แม้จะได้รับผลกระทบต่อชีวิตประจำวันชาวตราดทุกคนก็ให้ความร่วมมือด้วยดี

สิ่งที่น่าชื่นชมคือ ภาคเอกชน หน่วยงานท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม.ในแต่ละชุมชนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และออกมาช่วยกันทำงานป้องกัน ช่วยกันตั้งจุดคัดกรอง ช่วยกันเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน

สำหรับการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน ผู้ว่าฯตราดยืนยันว่า ยังจะต้องคงมาตรการเข้มงวดต่อไป การห้ามนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังจังหวัดตราด การเดินทางข้ามจังหวัดก็ยังห้ามหากไม่จำเป็นก็ไม่ควรออกไป และการห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 22.00-04.00 น. การคุมการเข้าออกชายแดนระหว่างประเทศ การให้ชาวตราดทำงานอยู่บ้าน การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การเปิดสถานบริการที่มีความเสี่ยง

หลักง่ายๆ ก็คือ รัฐบาลไม่ต้องการเห็นการเคลื่อนย้ายของประชาชนในระยะนี้ เพราะรัฐบาลกลัวเรื่องสุขภาพของประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาทางสังคม ส่วนเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องรอง ซึ่งนับจากนี้ 14 วันรัฐบาลจะประเมินผล จากนั้นจะมีการกำหนดมาตรการอีกครั้งหนึ่ง

“จตุพจน์ ปิยัมปุตระ” ผู้ว่าฯระนอง กล่าวถึงการบริหารจัดการของจังหวัด ว่า เริ่มตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดเดือนธันวาคมปีที่แล้ว จังหวัดได้มีการประชุมผู้บริหารระดับสูงกำหนดมาตรการคัดกรองที่สนามบินเมื่อวันที่ 22 มกราคม ผู้โดยสารขาเข้าทุกคน ทุกเที่ยวบินขาเข้าทั้งหมด หลังจากนั้นขยายไปสู่การคัดกรองเฝ้าระวังที่ท่าเรือ ท่าเรือน้ำลึก เรือท่องเที่ยว ตั้งด่านคัดกรอง 4 จุดหลักที่จะเข้าสู่จังหวัด ยกระดับไปสู่การตรวจรถขาเข้าทุกคัน เมื่อการแพร่ระบาดเข้าสู่จุดสูงสุดเมื่อวันที่ 8 เมษายน มีการประกาศผู้ที่จะเข้าสู่จังหวัดต้องมีใบรับรองแพทย์ว่า ไม่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ความสำเร็จครั้งนี้อยู่ที่พี่น้องชาวระนองที่ร่วมมือร่วมใจกัน

ในเมื่อวัคซีนและยารักษาเฉพาะยังไม่มี ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดคือการป้องกัน ต้องให้ชาวระนองรู้ว่าวิธีป้องกันที่ดีที่สุดต้องทำอย่างไร โดยใช้คาถา คือ กินร้อน ช้อนตัวเอง ล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ และสวมหน้ากากทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน และรักษาระยะทางสังคม ยุทธศาสตร์หลักที่นำมาสู่ความสำเร็จของทีมระนองคือ “เราจะต้องชนะสงครามครั้งนี้ แตกหักที่หมู่บ้านและชุมชน” ดังนั้นจึงได้มอบนโยบายลงไปสู่พื้นที่ ด้วยการใช้ชุมชนและหมู่บ้านเข้มแข็ง ด้วยการรู้จักดูแลตัวเองและครอบครัว ขยายออกไปยังหมู่บ้าน ให้ทุกคนเป็นหูเป็นตาไม่ให้คนแปลกถิ่นต่างหน้าเข้ามา หากเข้ามาต้องมีการคัดกรอง

สิ่งสุดท้ายคือ ทีมจิตอาสาโควิด-19 ทั้ง 199 ทีม ที่มีความเข้มแข็ง ประกอบด้วย ปลัดอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน ทีมสาธารณสุข และ อสม. กลไกหลักนี้จะต้องลงไปเคาะประตูบ้านทุกหลัง หลังไหนมีผู้กักตัวต้องติดตาม หลังไหนไม่มีการกัดตัวต้องให้ความรู้เรื่องป้องกันตัวเอง

ขณะที่แนวหน้ามีการตั้งด่านสกัดทั้งทางหลัก ทางรอง เส้นทางธรรมชาติ ไปพร้อมๆ กัน ทำให้ระนองปลอดการระบาดจังหวัดเดียวในภาคใต้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image