สธ. ร่วม สภาหอการค้า เอกชน สร้าง “Thai.care” เตรียมความพร้อมสู่ บรรทัดฐานใหม่ทางสังคม

สธ. ร่วม สภาหอการค้า เอกชน สร้าง “Thai.care” เตรียมความพร้อมสู่ บรรทัดฐานใหม่ทางสังคม

กระทรวงสาธารณสุข สภาหอการค้า แห่งประเทศไทย ภาคเอกชนและประชาชน จับมือร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์ม “Thai.care” เตรียมความพร้อมสู่ บรรทัดฐานใหม่ทางสังคม(New norm) เป็นความร่วมมือกันระหว่างภาคธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นใจในสถานบริการ พร้อมทั้งประชาชนยังสามารถประเมินมาตรฐานของสถานประกอบการได้ เช็กอินเช็กเอาท์เมื่อเข้าใช้บริการ แพลตฟอร์มนี้มาพร้อมฟังก์ชั่นการจ่ายเงินระบบออนไลน์ที่มีธนาคารกรุงไทยเป็นแม่ข่ายกับโมบายแบงค์กิ้งทั่วประเทศ ไทย เพื่อลดการสัมผัส ลดการติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิ ตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และนายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวถึงแนวทางการประกอบธุรกิจ/กิจการในช่วงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19

นายสาธิต กล่าวว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ที่ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า ในวันที่ 3 พฤษภาคมนี้จะมี การปลดล็อกกึ่งล็อกดาวน์ ซึ่งมีประกาศมา 6 กิจการ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “การเปิดเมืองอย่างปลอดภัย” หรือต้องใช้หลักการ New norm หรือ บรรทัดฐานใหม่ทางสังคม ด้วยความตระหนักของประชาชนทุกฝ่ายของสังคมไทย โดยยึดหลักเกณฑ์จาก สธ.ให้ภาคธุรกิจได้ขับเคลื่อนกิจการ ได้

นายสาธิต กล่าวว่า  สธ. ได้ร่วมกับรัฐบาล เพื่อผลิตเครื่องมือสำคัญในการช่วยให้การดำเนินการของจังหวัด พื้นที่ เจ้าหน้าที่ควบคุมดูแล ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้หลักการบังคับใช้กฎหมายแต่ จะอยู่ในภายใต้หลักการการตรวจสอบซึ่งกันและกัน ของแต่ละฝ่าย การดำเนินงานของ สธ.ในระยะผ่อนปรนมาตรการ คือ ผู้ประกอบกิจการต้องดำเนินการไปเป็นตามมาตรฐาน การเตรียมการของ สธ. และประชาชนสามารถร่วมตรวจสอบได้ เช่น หากผู้ใช้บริการเข้าไปใช้บริการในร้านอาหาร และพบว่าผู้ประกอบการไม่ดำเนินไปตามมาตรฐาน ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบเพื่อให้ผู้ควบคุมใช้ข้อมูลนี้ลงไปดำเนินการในพื้นที่ของผู้ประกอบการรายนั้นได้

Advertisement

“การเปิดเมืองอย่างปลอดภัยนั้นต้องใช้เครื่องมือที่สำคัญ ดังนั้น สธ. มีการเปิดเมืองอย่างมีส่วนร่วม กับผู้ประกอบการ ผ่านทางสภาออการค้าไทย ในการออกแบบเครื่องมือที่จะนำมาใช้ควบคุมและเปิดเมืองอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการจัดเรตติ้ง สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในอนาคต เพื่อหาข้อมูลร้านหรือกิจการที่มีความสะอาดปลอดภัย สร้างโอกาสในวิกฤตในอนาคตที่จะถึงนี้ว่า ประเทศไทยภายใต้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย จะพลิกฟื้นกลับมาสู่ประเทศที่มีความสะอาด มีอาหารปลอดภัย เป็นประเทศที่น่าท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวทั่วโลกจะต้องเดินทางมาประเทศไทย และสั่งซื้ออาหารที่ปลอดเชื้อโควิด-19 กลับไปยังประเทศเขาด้วย” นายสาธิต กล่าว

ด้าน นายวิชัย กล่าวว่า การปิดกิจการส่งผลให้เกิดความสูญเสียโอกาสมากมาย ทางหอการค้าไทยได้หารือกันว่า มาตรการผ่อนปรนเกิดจากการบูรณาการการจากทุกภาคส่วน โดยเมื่อเปิดแล้วจะต้องมีความปลอดภัย สร้างความมั่นใจ เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดรอบที่สองและต้องดำเนินการปิดกิจการอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลต่อความเสียหายที่มากขึ้น

โดยนายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับภาคเอกชน เช่น เครือข่ายหอการค้าจังหวัด 76 จังหวัด สมาคมการค้า สมาคมสิ่งทอ สมาคมอาหาร สมาคมท่องเที่ยว สภาหอการค้าต่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) และได้ความร่วมมือทางสาธารณสุขจาก นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ รัฐมนตรีว่าการสธ. ร่วมกันเสนอมาตรการและจัดกลุ่มกิจการการค้า ใน 4 สี คือ 1.สีขาว สถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่ำและเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ อุปกรณ์ทางการแพทย์ 2.สีเขียว สถานประกอบการที่มีความเสี่ยงปานกลาง 3.สีเหลือง สถานประกอบการที่มีความเสี่ยงปานกลางถึงสูง และ 4. สีแดง สถานประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง

Advertisement

นายวิชัย กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายก็ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนและเอกชน นอกจากนี้ทางกระทรวงการคลังได้รับมอบหมายให้ธนาคารกรุงไทย ให้ช่วยดูแล 1.โครงสร้างทางภาครัฐบาลเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการทำงาน โดยข้อมูลต่างๆจะถูกใช้ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 เท่านั้น 2.สนับสนุน/ส่งเสริมการดำเนินงานซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ ได้พัฒนาเว็บไซต์ชื่อว่า Thai.care ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม ที่พัฒนาจากภาคประชาชน โดยขณะนี้พร้อมเปิดใช้บริการ ผู้ประกอบการ 6 ประเภท ตามประกาศของ ศบค. สามารถเข้าไปจดทะเบียนร้านค้าได้แล้วในรูปแบบที่ง่ายแต่ปลอดภัย เช่น ข้อมูลใดที่มีอยู่แล้วก็จะดึงจากระบบออกมาใช้ได้ทันที ในส่วนของภาคประชาชนที่เข้าไปใช้บริการ เพื่อความปลอดภัย ก็จะมีระบบในการเช็กอิน/เช็กเอาท์ เพื่อให้ทีมสอบสวนโรคสามารถตรวจสอบได้

“ในสัปดาห์หน้ากระทรวงการคลังผ่านทางธนาคารกรุงไทย จะเรียกทุกธนาคาร มาหารือกันในเรื่องของแพลตฟอร์มโมบายแบงค์กิ้งทั้งประเทศ เข้ามาอยู่ที่ประกอบกันในแพลตฟอร์ม Thai.care เพื่อสร้างระบบการจ่ายเงินออนไลน์ และลดการสัมผัสธนบัตรเงินสดลดความเสี่ยงในการรับเชื้อ ” นายวิชัย กล่าว

ด้าน ภาคประชาชนผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Thai.care กล่าวว่า การลงทะเบียนบนเว็บไซต์ค่อนข้างง่าย ใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที หลังจากลงทะเบียนเสร็จ จะมีมาตรการที่สถานบริการควรจะปฏิบัติขึ้นมาให้อ่านและสามารถสั่งพิมพ์ได้ทันที นอกจากนี้จะได้คิวอาร์โค้ดไปติดไว้ที่หน้าร้าน เพื่อให้ประชาชนที่เข้าใช้บริการสามารถสแกน คิวอาร์โค้ดเพื่อเพิ่มเพื่อนในแอพพลิเคชั่น LINE และลงชื่อเข้าใช้บริการในร้านค้าได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการบันทึกข้อมูลในการสอบสวนโรคหากเกิดผู้ติดเชื้อภายในสถานที่นั้นๆ

วิชัย อัศรัสกร

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image