ส.อ.ท.เร่งฟื้นฟูอุตฯรับโควิดคลี่คลาย อุตอาหารจุดแข็งไทยช่วงโควิด ชู5เอสเคิร์ฟพลิกอุตไทย
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฟื้นฟู หลังไวรัสโควิด-19 เปิดเผยว่า แนวโน้มหลังจากนี้คาดว่าระบบการผลิตของโลกจะถูกปฏิวัติใหม่อีกครั้งจากผลกระทบโควิด-19 โดยทุกประเทศจะหันมาพึ่งพาการผลิตในประเทศมากขึ้นเพื่อความมั่นคง จะเกิดการกีดกันทางการค้ามากขึ้น ดังนั้นคณะอนุกรรมการฯจึงเตรียมแผนที่จะขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนดังกล่าวไว้ 2 ส่วนได้แก่1. อุตสาหกรรมดั้งเดิมซึ่งเป็นสมาชิกส.อ.ท.45กลุ่มและ11 คลัสเตอร์ และ 2. กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเกิดขึ้น( เอส-เคิร์ฟ )
“ โควิด-19 ทำให้หลายประเทศต้องทบทวนการผลิตใหม่ จะผลิตเองมากขึ้น เพราะช่วงที่โควิด-19ระบาดหลายประเทศในยุโรปขาดแคลนอาหาร วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ดังนั้นหลายประเทศจะคำนึงถึงคนในประเทศก่อน ทุกคนจะหันมาพึ่งพิงเศรษฐกิจฐานราก สำหรับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีได้เน้นนโยบายดังกล่าวเช่นกัน ดังนั้นแผนการฟื้นฟูอุตสาหกรรมของส.อ.ท.จะสอดรับกับรัฐบาล เพราะคาดว่าโควิด-19 น่าอยู่อีก1-2 ปีจากนี่”นายเกรียงไกรกล่าว
นายเกรียงไกรกล่าวว่า สำหรับการพัฒนาที่กำหนดไว้ 2. ส่วนได้แก่ 1. อุตสาหกรรมดั้งเดิมซึ่งเป็นสมาชิกส.อ.ท.45 กลุ่มและ11 คลัสเตอร์ทางส.อ.ท.จะผลักดันให้เกิดการใช้สินค้าไทยหรือ เมด อิน ไทยแลนด์ เสนอให้ระบบจัดซื้อจัดจ้างโดยกรมบัญชีกลางให้มุ่งเน้นการใช้สินค้าไทยเป็นอันดับแรกก่อน ขณะเดียวกันจะมองในเรื่องของความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และสถาบันการวิจัยต่างๆเพื่อที่จะพัฒนาห่วงโซ่การผลิต(ซัพพลายเชน)เพื่อพัฒนาให้ครอบคลุมการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ลดการพึ่งพิงชิ้นส่วนนำเข้าจากต่างประเทศโดยมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาใช้เอง แม้ระยะแรกต้นทุนอาจสูงแต่จำเป็นต้องหาแนวทางต่างๆมาส่งเสริมให้เกิดขึ้น
นายเกรียงไกรกล่าวว่า อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของไทยช่วงโควิด-19 มีความโดดเด่น กลายเป็นโอกาสของไทยท่ามกลางหลายประเทศที่ขาดแคลนแต่ไทยกลับส่งออกได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นควรผลักดันให้มีการใช้เทคโนโลยีมาบริหารจัดการ คำนึงถึงอุตสาหกรรมต้นน้ำที่เป็นระบบ ทำให้เกิดการลดต้นทุนซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้กับภาคเกษตรและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งกว่าเดิม
“ไทยพึ่งพิงส่งออกถึง 70% จากนี้ไปต้องปรับลดให้เน้นตลาดในประเทศเพิ่มขึ้นซึ่งคงต้องอาศัยเวลาในการค่อยๆปรับ รวมทั้งตลาดอาเซียนที่มีศักยภาพ ส่วนส่งออกนั้นมองว่าตลาดสหรัฐฯและยุโรป หรือแม้กระทั่งจีนเองคงไมได้ฟื้นง่ายและเขาคงจะเน้นพึ่งพาตนเองก่อน”นายเกรียงไกรกล่าว
นายเกรียงไกรกล่าวว่า นอกจากนี้ 2.กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กำลังจะเข้ามารวดเร็วซึ่งประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรมหลักได้แก่ 1.อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล ไอที ซึ่งไทยเตรียมที่จะเกิดขึ้นของเทคโนโลยี 5จีที่จะเร่งให้การนำมาใช้ในภาคการค้า บริการ มากขึ้น กลุ่มนี้จะเป็นตัวชูโรงเพราะจากพฤติกรรมการทำงานอยู่บ้านทำให้เกิดการซื้อขาออนไลน์ พฤติกรรมเหล่านี้จะกลายเป็นนิว นอร์มอล 2.อุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับสุขภาพ จากนี้คาดว่าจะมาแรงเพราะหลังจากโควิด-19 จะทำให้ทุกส่วนหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น3.เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งไทยมีโอกาสก้าวสู่ตลาดนี้มากขึ้นหลังจากไทยประสบความสำเร็จในการลดการแพร่ระบาดของเชื้อไว้รัส ซึ่งจะเอื้อให้คนไทยก้าวยมาผลิตในอุตสาหกรรมนี้ที่เป็นแบรนด์โดยคนไทย
4.อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ จะมีส่วนสำคัญในการจัดการการขนส่งสินค้าที่จะมีการเปลี่ยนแปลงจากตลาดค้าออนไลน์ และค้าปลีก และ5. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์จะเสริมศักยภาพงานต่างๆ ซึ่งในช่วงโควิด-19 นักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆได้ช่วยงานของแพทย์พยาบาล ทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสที่จะพัฒนามาเป็นเชิงพาณิชย์เพื่อบริการคนในประเทศและต่างประเทศได้ในอนาคต
“การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากนี้เราต้องมุ่งเน้นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างๆให้มากขึ้นเพื่อให้สิ่งที่จะพัฒนาเป็นของคนไทยที่จะมุ่งเน้นพึ่งพิงตนเอง”นายเกรียงไกรกล่าว