“สุริยะ”สบช่องโควิดดันไทยศูนย์กลางอาหารโลก หลังส่งออกพลิกบวกรอบ8เดือน

“สุริยะ”สบช่องโควิดดันไทยศูนย์กลางอาหารโลก มั่นใจแผนปฏิบัติการ10ปีส่งไทยติดท็อปเท็น วงการอาหารชี้จังหวะเหมาะหลังไทยส่งออกโตสวนกระแสโลก

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายว่า หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (2562-70) ของกระทรวงอุตสาหกรรม มั่นใจจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารแห่งอาเซียนควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะในภาคเกษตรที่จะยกระดับผลิตภัณฑ์อาหาร เกิดการสร้างงาน และการสร้างรายได้สู่ท้องถิ่น

โดยตามแผนคาดการณ์ว่า จะเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมอุตสาหกรรมอาหารของไทยเป็น 1.42 ล้านล้านบาท ก่อให้เกิดรายได้ในธุรกิจเกี่ยวเนื่องเพิ่มขึ้น 4.5 ล้านล้านบาท ครอบคลุมผู้ประกอบการในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกว่า 7.6 ล้านราย และก่อให้เกิดการลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมอาหารภายในประเทศกว่า 0.48 ล้านล้านบาท และไทยจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตของอาเซียน เป็น 1 ใน 10 ของประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลกภายในปี 2570

“แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ถือว่าเป็นจังหวะเหมาะสม เพราะผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้สถานการณ์ทั่วโลก รวมทั้งไทย เกิดความต้องการอาหาร และไทยมีศักยภาพด้านนี้ กระทรวงฯเล็งเห็นโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารที่สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคและทิศทางของโลก เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยในช่วง 10 ปีจากนี้”นายสุริยะกล่าว

นายสุริยะ กล่าวว่า สาระสำคัญแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ประกอบด้วย 4 มาตรการ คือ มาตรการสร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ สร้างผู้ประกอบการอาหารรุ่นใหม่ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ ภาคการเกษตร ภาคการผลิต และภาคการตลาด ที่ให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารอนาคต อาทิ อาหารสุขภาพ นอกจากนี้จะยกระดับเกษตรกรให้ปลูกพืชเชิงอุตสาหกรรม นำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตให้ตรงความต้องการของห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะเกษตรอินทรีย์ มาตรการสร้างนวัตกรรมอาหารอนาคตสู่การผลิตเชิงพาณิชย์พัฒนาศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมอาหาร ส่งเสริมให้มีฟิวเจอร์ ฟู๊ด แลบ ในพื้นที่เมืองนวัตกรรมอาหารส่วนขยายที่อยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพ

Advertisement

นอกจากนี้ จะมีมาตรการสร้างโอกาสทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์ม ที่เหมาะสมกับผู้ผลิตทุกระดับให้อุตสาหกรรมอาหารไทยมีบทบาทในตลาดโลก โดยการเชื่อมโยงการค้าสู่สากล รวมทั้งมาตรการสร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม อาทิ ส่งเสริมการสร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับอาหารในระดับต่าง ๆ การสร้างระบบมาตรฐานที่จะรองรับการพิสูจน์สารสกัดชนิดใหม่ของไทยจากสมุนไพรหรืออาหารให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและระดับสากล โดยการกำกับการดำเนินงานของแผนฯจะใช้กลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ(กอช.)ต่อไป

รายงานข่าวจากวงการอุตสาหกรรมอาหาร กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ ครม.เห็นชอบการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1(2562-70)เนื่องจากมีการผลักดันเรื่องนี้มานานหลายปี โดยอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปเป็น1ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลสนับสนุน หลังจากที่ผ่านมาเห็นชอบยุทธศาสตร์ยานยนต์สมัยใหม่ ยุทธศาสตร์หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติแล้ว ประกอบกับผลจากการโควิด-19 ยังแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมอาหารของไทยมีศักยภาพ จึงเป็นหนึ่งในไม่กี่อุตสาหกรรมที่มีส่งออกขยายตัวในช่วงนี้ โดยเดือนมีนาคม 2563 การส่งออกอาหารขยายตัว 0.8% กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image