สนค. เผยเงินเฟ้อ เม.ย. รูดแรง รอบ10ปี ติดลบ จากเหตุโควิด-มาตรการรัฐ (คลิป)

สนค. เผยเงินเฟ้อ เม.ย. รูดแรง รอบ10ปี ติดลบ จากเหตุโควิด-มาตรการรัฐ (คลิป)

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนเมษายน 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลง 2.99 % หดตัวแรงที่สุดในรอบ 10 ปี 9 เดือน เนื่องจากการลดลงของสินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงต่ำสุดในรอบ 11 ปี 2 เดือน ค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา รวมถึงสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพบางรายการที่ลดลงจากมาตรการของภาครัฐเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ขณะที่สินค้ากลุ่มอาหารสดโดยรวม ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องตามผลกระทบจากภัยแล้ง แต่ในอัตราที่ชะลอลงตามความต้องการที่หายไปบางส่วน   จากสถานการณ์โควิด-19 ส่วนราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่น ๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ 0.41%  เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 4 เดือนแรกปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ลดลง 0.44 % และ เงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้น0.50 %

“แม้เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แล้ว ยังไม่ถือว่าเข้าภาวะเงินฝืด ซึ่งทางวิชาการเงินเฟ้อต้องติดลบต่อเนื่อง 3 เดือนและราคาสินค้าหลักส่วนใหญ่ลดลงต่อเนื่อง  แต่ปีนี้เจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมรูปแบบต่าง ๆ ช่วงสถานการณ์โควิด-19  เป็นปัจจัยชั่วคราวที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าและบริการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ศักยภาพการผลิตและความสามารถด้านการแข่งขันของไทยยังอยู่ในระดับที่ดี  หากสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น จะทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อกลับเข้าสู่ทิศทางปกติได้โดยเร็ว และ ภัยแล้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อผลผลิตภาคเกษตรและราคาสินค้าเกษตร   เป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในสถานการณ์หลังโควิด-19 “

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า ยังมองว่าปัจจัยต่อเงินเฟ้อทั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 ธุรกิจยังไม่กลับมาเปิดเต็มที่ ราคาน้ำมันแนวโน้มต่ำ และผลกระทบจากภัยแล้ง จะยังมีผลต่อเงินเฟ้อไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ได้อยู่ ทำให้แนวโน้มเงินเฟ้อไตรมาส 2/2563 ติดลบที่ 2.28 % สูงกว่าไตรมาสแรกติดลบ 0.2% ส่วนไตรมาส 3 อาจติดลบเล็กน้อย และกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาส 4 โดยสนค. ยังคงคาดการเงินเฟ้อทั้งปี 2563 ไว้ที่ลบ 0.6%

ทั้งนี้ เงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคม ยังมีปัจจัยเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19 และแนวโน้มราคาพลังงานโลก โดยราคาพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งจากการตกลงเพื่อลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกมีแนวโน้มได้ข้อยุติ และความต้องการใช้น้ำมัน ของประเทศจีนและบางประเทศ ที่เริ่มกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติหลังสถานการณ์โควิด–19 ในประเทศเริ่มคลี่คลาย

Advertisement

ขณะที่ ภัยแล้งอาจส่งผลต่อผลผลิตสินค้าเกษตรบางชนิด ทำให้ราคามีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น แต่จะถูกลดทอนด้วยปัจจัยด้านอุปสงค์ ที่ลดลงและฐานราคาสินค้าเกษตรบางชนิดที่สูงมากในปีก่อน โดยรวมแล้วราคาในเดือนพฤษภาคม 2563 น่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image