เลขาฯกสทช. ชี้โลกยุคใหม่ อิทธิพล OTT ชี้นำ ให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีได้

เลขาฯกสทช. ชี้โลกยุคใหม่ อิทธิพล OTT ชี้นำให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีได้

ในอดีตตั้งแต่ยุคกรีกโบราณมีคำกล่าวที่ว่า “Seeing is believing” แปลความได้ว่า “เมื่อเห็นแล้วถึงเชื่อ” เป็นแนวคิดที่สะท้อนการตัดสินใจ การใช้ชีวิต และแนวคิดของคนได้เป็นอย่างดี สิ่งไหนที่เราไม่เห็น ก็มักจะไม่เชื่อว่าจริง คนไทยจะคุ้นเคยกับวัฒนธรรมแบบนี้เป็นอย่างดี

ในปัจจุบันคนไทยอยู่ในโลกดิจิทัล บริโภคบริการ OTT ในรูปของสังคมออนไลน์กันกว่าครึ่ง มีจำนวนบัญชีในสื่อสังคมออนไลน์กว่า 50 ล้านบัญชี ที่ได้รับความนิยมสูงสุด 5 อันดับหนีไม่พ้น Facebook YouTube Line Instagram และ Twitter จากข้อมูลในรายงาน Digital 2020: Thailand ของ WeAreSocial คำพูดที่ว่า Seeing is believing ถูกเปลี่ยนแปลงเป็น Believing is seeing คือเมื่อเราเชื่อแล้วถึงจะเห็น

ด้วยเทคโนโลยีการวิเคราะห์บิ๊กดาต้า ที่เก็บจากผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย (social media) ต่างๆ ระบบอัลกอริธึ่ม จะแสดงข้อความ ข่าว รูปภาพ วิดีโอ ความเห็นหรือ comment รวมถึง โฆษณาต่างๆ ที่เราชอบ ที่เราคิดว่าใช่ ที่เราเชื่อ มาให้เราเห็นเรื่อยๆ จนสิ่งนั้นกลายเป็นความจริง หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสายตาของเราในที่สุด

Advertisement

Social Media OTT เหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลกับความเชื่อทางการเมืองของคนไทยเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกา และหลายๆ ประเทศ ข้อมูลข่าวสารทั้งที่ถูกสร้างขึ้นโดยผู้ใช้งาน หรือโฆษณาต่างๆ ที่สอดแทรกความเห็นทางการเมืองจะถูกบริหารจัดการให้ User ที่มีความเห็นคล้ายๆ กัน ได้เห็น ได้แชร์กัน ลึกขึ้น ในวงแคบลง แต่เข้าถึงคนหมู่มากได้รวดเร็ว พรรคการเมืองใหญ่ๆ มีเงินทุนผลิตป้ายหาเสียงสวยๆ ใหญ่ๆ จัดเวทีปราศรัยได้บ่อยครั้ง เคยชนะการเลือกตั้งด้วยการติดป้ายหาเสียงได้ครอบคลุมมากที่สุด เข้าถึงประชาชนได้มาก เพราะคนไทยต้องเห็นก่อนถึงจะเชื่อ

ในปัจจุบันเห็นแล้วว่าไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว คนไทยที่มีความเชื่อเหมือนๆ กัน ชอบพรรคไหน นักการเมืองคนไหน ก็ไปแชร์ ไปคุยกันเชิงลึกในโซเชียลมีเดีย และ Platform เหล่านั้นก็เลือกสรรข้อมูลที่ตรงกับความเชื่อมาให้เห็นอยู่เรื่อยๆ OTT เหล่านี้มีอิทธิพลกับความคิดคนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ และที่สำคัญไม่ใช่ของคนไทยเลยทั้งสิ้น

ทุกวันนี้ Facebook YouTube Twitter Line จะเป็นโหรพยากรณ์การเมืองไทยที่แม่นยำที่สุด จะบอกได้ว่านักการเมือง พรรคการเมือง รัฐมนตรี จนถึงนายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะเป็นใคร คนไหนที่จะได้หรือไม่ได้ตำแหน่งอะไร ด้วยเครื่องมือที่ไม่ใช่โหราศาสตร์แต่เป็นวิทยาศาสตร์ ที่ไม่ต้องพึ่งพาโหรคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกคนจะเป็นคนบอกเองว่าจะเห็นอะไร โดยสร้างและขยายกลุ่มความเชื่อจนได้เห็นในที่สุด นักการเมืองคนไหนมีจำนวนคนชอบเท่าไหร่ มีคนติดตามเท่าไหร่ มีคนไม่ชอบเท่าไหร่ จำนวนยอด Like ยอด share ยอด subscription และ follow เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญว่าคนไหนจะได้รับเลือกตั้งก่อนการเลือกตั้งด้วยซ้ำ เป็นตัวบอกว่าคนไหนที่คนไทยจะเทคะแนนให้ แม้ว่าจะไม่เคยเล่นการเมืองมาก่อนเลยด้วยซ้ำ

เราเห็นแล้วว่าพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งครั้งแรกชนะพรรคใหญ่ได้อย่างง่ายดายด้วยการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากตัวตนและความเชื่อของคนไทยในโลกโซเชียล เพราะ OTT เหล่านี้จะทำให้คนเห็นแต่สิ่งที่เชื่อจนกลายเป็นเรื่องจริง โดยไม่สนใจข้อมูลอีกด้าน ความเห็นต่าง หรือข้อเท็จจริงใดๆ การเมืองไทย การบริหารประเทศ และการสื่อสารภาครัฐในยุคดิจิทัล จะมีความท้าทายอย่างมาก ต้องเข้าใจและรู้จักใช้ประโยชน์จาก OTT เหล่านี้ให้มาก

“หากว่าการเมืองเป็นเรื่องของคะแนนนิยม ในยุคที่ Social Media OTT ครองเมือง เราอาจจะได้เนทไอดอล ที่ยอดไลน์ ยอด Follow สูงเป็นนายกรัฐมนตรีก็เป็นได้”

ในวันนี้ทุกคนเห็นแล้วว่าวิกฤตโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเราอย่างมาก การใช้ชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ จะไม่ใช่สิ่งที่ชั่วคราวอีกต่อไป เมื่อหมดยุคโควิดแล้วเราจะได้ ใช้ชีวิตในรูปแบบปกติใหม่หรือ New Normal ที่จะเกิดขึ้น เมื่อโควิดผ่านพ้นไป วิถีชีวิตเราจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม การดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจจะเปลี่ยน วิถีทางการเมืองก็จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ทุกอย่างจะเป็นออนไลน์มากขึ้น

ผมเคยพูดไว้แล้วว่าเศรษฐกิจไทยจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงหลังโควิด-19 จะเกิดการครอบงำโดยกลุ่ม Over-the-top หรือ OTT ต่างชาติมากขึ้น ในด้านการเมืองก็เช่นเดียวกัน เห็นได้ตั้งแต่ยุค 4G ก่อนโควิด ที่คนไทยเริ่มหันไปรับส่งข้อมูลข่าวสารกันในสังคมออนไลน์ ผ่านโซเชียลมีเดีย OTT ไม่ว่าจะเป็น Facebook YouTube Line หรือ Twitter มีการแสดงความเห็นทางการเมือง ส่งข้อความ และวิดีโอเพื่อการหาเสียง การสื่อสารนโยบายรัฐเพื่อลองหยั่งเสียงตอบรับจากประชาชนบนโลกโซเชียล รวมทั้งการร้องเรียน วิจารณ์การทำงานของรัฐ จนหน่วยงานรัฐต่างทยอยสร้างช่องทางสื่อสารออนไลน์ เพื่อรองรับความต้องการของประชาชน เพราะรู้ดีว่าคนไทยพร้อมและไวในเรื่องโซเชียลมาก

วันนี้เรามีคลื่นความถี่รองรับเทคโนโลยี 5G แล้วหลังจาก กสทช. ได้จัดประมูลคลื่นทุกย่านที่ใช้ได้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และเรามีบริการ 5G แล้ว ยุคหลังโควิดที่การทำงานจากบ้านหรือ Work from home ประชุมทาง Teleconference เป็นเรื่องปกติไปแล้ว เราจะเข้าสู่สังคม 5G อย่างเต็มรูปแบบอย่างเร็วขึ้นมาก ด้วยความเร็วกว่า 4G ถึง 100 เท่า ในยุค 5G จะทำให้การใช้งานบริการ Over-the-top หรือ OTT เติบโตกว้างขวางขึ้นแบบก้าวกระโดด คนไทยจะใช้ชีวิต สื่อสาร ส่งต่อข้อมูลข่าวสารกันบน OTT

เมื่อมีการใช้งาน OTT ต่างๆ ในยุค 5G หลังโควิด การเมืองไทยจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอย่างแน่นอน OTT โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย จะมีบทบาทในการเมืองไทยมากกว่าในยุค 4G อย่างเห็นได้ชัด การหาเสียงจะทำได้อย่างง่ายดาย เข้าถึงคนหลากหลาย ลงทุนน้อยลง และสามารถโต้ตอบกันได้ด้วยเทคโนโลยี Virtual Reality หรือ VR เสมือนว่าอยู่ที่เดียวกัน คนไทยจะสามารถฟัง และแสดงความเห็นโต้ตอบกับนักการเมืองในโลกเสมือนนี้ จากในห้องนอน ไม่ต้องจัดเวทีปราศรัยใหญ่ในหลายพื้นที่เหมือนก่อน ไม่ต้องแจกหนังสือเชิญ เพียงแค่แชร์ลิงก์ เข้ากลุ่มเท่านั้น ลดความแออัด เป็นพฤติกรรม social distancing ที่จะเป็นเรื่องปกติในยุคนี้

การบริโภคข้อมูลข่าวสารบน OTT ในยุค 5G จะมีความรวดเร็วและลึกขึ้น Platform ที่มีคนใช้งานมากอย่าง Facebook Line และ Twitter จะเป็นคนเลือกแสดง ลิงก์ ความเห็น เนื้อหาทั้งข้อความ รูปภาพ และวิดีโอหาเสียง แนะนำตัว และโฆษณาทางการเมืองต่างๆ ให้กลุ่มคนไทยเอง คนที่ชอบดู หรือแสดงความเห็นแบบไหนก็จะได้รับชมอยู่แต่เนื้อหาทางการเมืองที่ตัวเองชอบ จนทำให้เชื่อว่านักการเมืองนั้นๆ คือคนที่เหมาะสม เปลี่ยนจากผู้ชมในโลกออนไลน์ เป็นฐานเสียงในการเลือกตั้ง เมื่อมีมากพอก็สามารถชนะการเลือกตั้งได้ จัดตั้งรัฐบาลได้ ทำให้การเลือกตั้งเป็นเพียงขั้นตอนเชิงสัญลักษณ์เพื่อ ยืนยันผลความนิยมที่ปรากฏในโซเชียลมีเดีย ก่อนหน้าแล้วเท่านั้น OTT จึงมีอิทธิพลมากในการชี้นำความคิดทางการเมืองที่สำคัญ จะมีบทบาทในการครอบงำความคิดในการกำหนดคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้

“อยากจะเตือนประเทศไทยว่าหลังโควิด OTT นอกจากจะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจแล้ว ยังเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยด้วย”

สิ่งที่ควรจะเร่งทำในตอนนี้ คงไม่ใช่การปิดกั้น OTT ต่างๆ เพราะได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตคนไทยไปแล้ว แต่เป็นการเร่งสร้าง OTT ของไทย หรือสร้างสภาพแวดล้อมที่ให้ OTT ต่างชาติดำเนินธุรกิจได้ตามกฎหมายและนโยบายของรัฐบาลไทย ร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจ และสนับสนุนกิจกรรมทางการเมืองไทยอย่างเป็นกลางเท่านั้น

เรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานแบบดั้งเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่ต้องมีหน่วยงานกลางที่ทันสมัย มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจ OTT ที่จะสร้าง Platform ขึ้นโดยอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น ทั้งภาครัฐและเอกชน
“ถ้าไม่รีบตั้งต้นสตาร์ตอัด OTT ของไทย ก็จะเจอ OTT ต่างชาติเข้าครอบงำ ออกแบบการเมืองและกลืนกินเศรษฐกิจไทยไปเรื่อยๆ”

ฐากร ตัณฑสิทธิ์

เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ดร.ชุติพงศ์ กี่สุขพันธ์

ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์นโยบายเชิงเศรษฐศาสตร์ สำนักงาน กสทช.

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image