‘เฉลิมชัย’โต้กลับ เร่งสุดฝีเท้าเงินเยียวยาเกษตรกร

รมว.เฉลิมชัย โต้กลับเร่งสุดฝีเท้าและใส่ใจช่วยเหลือเงินเยียวยาเกษตรกร เผยกลุ่มแรกเตรียมเฮ หลังคลังได้รับหนังสือแจ้งข้อมูลแล้ว พร้อมแจงละเอียดยิบถึงกระบวนทำงาน ทำทุกวันไม่มีวันหยุด

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้ผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในส่วนรับผิดชอบโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะนี้ข้อมูลจำนวนเกษตรกรที่พร้อมได้รับการเยียวยากลุ่มแรกได้เสร็จเรียบร้อย พร้อมได้ลงนามในหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อแจ้งข้อมูลจำนวนเกษตรกรที่พร้อมได้รับการเยียวยาในกลุ่มแรกแล้ว ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับหนังสือข้อมูลดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย

นายเฉลิมชัยกล่าวอีกว่า เกษตรกรกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรและมีบัญชี ธ.ก.ส. จะได้รับเงินช่วยเหลืองวดแรกประมาณช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ส่วนเกษตรกรที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนหรือรายชื่อตกหล่นนั้น ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้มาขึ้นทะเบียนภายในวันที่ 15 พ.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการขึ้นทะเบียน หลังจากนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะทำการตรวจสอบความถูกต้องอีกประมาณ 7 วัน ก่อนส่งให้กระทรวงการคลังดำเนินการ คาดว่าการจ่ายเงินช่วยเหลืองวดแรกแก่เกษตรกรทั้งหมดได้ภายในสิ้นเดือนพ.ค.นี้

“การทำงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่มีความล่าช้า เต็มไปด้วยความใส่ใจ ทำงานแบบเร่งด่วน และมีการติดต่อประสานงานเป็นการภายในกันกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด ไม่เว้นวันหยุดราชการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่มีทั้งผู้ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมหม่อนไหม การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลของกระทรวงอุตสาหกรรม และการยาสูบแห่งประเทศไทยของกระทรวงการคลัง กรณีที่มีข้อทวงติงผ่านทางสื่อมวลชนว่า มีการทำงานที่ล่าช้า และไม่เห็นความสำคัญและใส่ใจช่วยเหลือเกษตรกรนั้น ไม่เป็นความจริง ตนนั้นมีความห่วงใยทั้งเกษตรกรและประชาชนทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 จึงสั่งให้ทุกหน่วยงานของกระทรวง ดูแลห่วงโซ่การผลิตอาหารทั้งระบบจนถึงมือผู้บริโภค จัดระบบรวบรวมผลผลิต ระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้เกษตรกรขายผลผลิตการเกษตรได้”นายเฉลิมชัยกล่าว

นายเฉลิมชัยกล่าวอีกว่า กระบวนการทำงานช่วยเหลือได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ส่งข้อมูลรายชื่อเกษตรกร ให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เพื่อตรวจสอบสิทธิโครงการเราไม่ทิ้งกัน ต่อมาวันที่ 12 เม.ย. กระทรวงการคลังประกาศและกำหนดให้ผู้มีอาชีพเกษตรกร เป็นหนึ่งในกลุ่มไม่ได้รับสิทธิ ต่อมาผู้ลงทะเบียนเข้าร่วม ร้องเรียนว่า ไม่ได้รับสิทธิเพราะเป็นเกษตรกร

Advertisement

“ในวันที่ 18 เม.ย. ได้เรียกประชุมพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือ วันที่ 21 เม.ย. ทำการตรวจสอบจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเพื่อวางกรอบช่วยเหลือ กับ ธ.ก.ส. และ 22 เม.ย. ผมพร้อมด้วยปลัดกระทรวงเกษตรฯ ได้เข้าพบนายก เพื่อหาแนวทางการเยียวยาวเกษตรกร” นายเฉลิมชัยกล่าว

นายเฉลิมชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ต่อมา 23 เม.ย. ทำหนังสือเสนอโครงการเยียวยาเกษตรกรต่อคณะกรรมการกลั่นกรองฯ และเลขาธิการ สศก. เข้าชี้แจง วันที่ 28 เม.ย. ครม. มีมติอนุมัติโครงการเยียวยาเกษตรกร วันที่ 29 เม.ย. มอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯเรียกประชุมหน่วยงานเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของจำนวนเกษตรกร ทั้ง พืช ปศุสัตว์ ประมง หม่อนไหม ยาง อ้อย ยาสูบ

“30 เม.ย. ผมได้ประชุมเพื่อสรุปจำนวนเกษตรกรที่จะได้รับสิทธิเยียวยา โดยตรวจสอบความซ้ำซ้อนของการขึ้นทะเบียนทั้ง 7 หน่วยงาน โดยตรวจสอบจาก citizen ID วันที่ 1 พ.ค. ผมได้ลงนามในหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อแจ้งข้อมูลจำนวนเกษตรกรที่พร้อมได้รับการเยียวยาในกลุ่มแรก ซึ่งในวันที่ 5 พ.ค. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้รับหนังสือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ” นายเฉลิมชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image