‘อี-มีตติ้ง’เลี่ยงโควิด ช่วยธุรกิจเดินหน้า

‘อี-มีตติ้ง’เลี่ยงโควิด ช่วยธุรกิจเดินหน้า

ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั้งต่อเศรษฐกิจและสังคมไปทั่วโลก ทุกอุตสาหกรรมล้วนได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า มากบ้างน้อยบ้าง ขึ้นกับความสามารถในการปรับตัวว่าทำได้เร็วและดีแค่ไหน โดยเฉพาะการเรียนรู้เพื่อรับมือกับการขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่ยุคดิจิทัลหรือ Digital Transformation ที่จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว และถือเป็นเรื่องที่หลายคนได้เรียนรู้การใช้งานในช่วงวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ในหลากหลายรูปแบบของการประชุมทางออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ กระทั่งล่าสุดรัฐบาลได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อคลายล็อกให้กับบริษัทและองค์กรธุรกิจ ที่ต้องขับเคลื่อนธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปโดยไม่สะดุด

กฎหมายดังกล่าวก็คือ พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 ที่รัฐบาลเพิ่งปลดล็อกไปและประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา

ขณะที่สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย นำโดยนายศุภชัย เจียรวนนท์
ในฐานะประธานสภาดิจิทัลฯมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้องค์กรธุรกิจไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ สามารถจัดประชุมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือการประชุมรูปแบบ E-Meeting ที่มีการรับรองทางกฎหมายอย่างเป็นทางการ

Advertisement

ภายหลังรัฐบาลปลดล็อกเรื่องนี้ ประธานสภาดิจิทัลฯ ศุภชัย เจียรวนนท์ นำร่องจัดประชุมรูปแบบ E-Meeting สมบูรณ์แบบครั้งแรก ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2563 ที่มีสมาชิกซึ่งเป็นสมาคมด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล 22 สมาคม ประกอบด้วยบุคคลและนิติบุคคลกว่า 4,000 ราย ครอบคลุมธุรกิจหรืออุตสาหกรรมดิจิทัล ทั้งด้านฮาร์ดแวร์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ ด้านซอฟต์แวร์ ด้านบริการดิจิทัล ด้านดิจิทัลคอนเทนต์ และด้านบริการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสื่อสารในระบบดิจิทัล

ประธานสภาดิจิทัลฯเผยว่า สภาดิจิทัลฯจัดประชุมสามัญประจำปี 2563 ขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการก่อตั้งสภา โดยจัดประชุมในรูปแบบ E-Meeting ตาม พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 ซึ่งสภาดิจิทัลฯได้ผลักดันจนสำเร็จเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการบริษัทเอกชนที่ประสบปัญหาไม่สามารถจัดการประชุมบริษัทได้ในช่วงที่ประเทศประสบวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 โดยหวังจะช่วยให้แต่ละบริษัทสามารถจัดประชุมโดยเฉพาะในช่วงนี้ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีการประชุมสามัญประจำปี

ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุด บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมี 555 บริษัท และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI มีจำนวน 169 บริษัท รวม 724 บริษัท ที่จะได้ประโยชน์จากการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ไปแบบเต็มๆ

Advertisement

แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดแนวทางการจัดประชุมในรูปแบบ E-Meeting ไว้แล้ว แต่เชื่อว่าหลายบริษัทอาจยังไม่แน่ใจที่จะจัดประชุมทันที ทางสภาดิจิทัลฯซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่ยุคดิจิทัล ได้ออกคู่มือวิธีการจัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่สอดคล้องกับ พ.ร.ก.ดังกล่าว เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจบริษัทเอกชนต่างๆ ได้ยึดเป็นแนวทางปฏิบัติ โดยเฉพาะในเรื่องการแสดงตน และการลงมติ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดคู่มือวิธีการจัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้ที่ www.dct.or.th

สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 คือ การยกเลิกประกาศ คสช.ฉบับที่ 74/2557 เรื่องการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะการประชุมที่ต้องการให้มีผลทางกฎหมาย เช่น การประชุมคณะกรรมการบริษัท หรือการประชุมผู้ถือหุ้น เป็นต้น

ทั้งนี้ มีการยกเลิกข้อกำหนดเดิมที่ระบุว่า “อย่างน้อย 1 ใน 3 ขององค์ประชุมจะต้องอยู่ในที่ประชุมเดียวกัน และผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดจะต้องอยู่ในราชอาณาจักรขณะที่มีการประชุม ซึ่งเป็นอุปสรรคในการจัดประชุมแบบออนไลน์

รวมถึงการปลดล็อกเรื่องการกำหนดชั้นความลับ โดยเพิ่มเติมหลักการให้ผู้เข้าร่วมประชุมต้องลงคะแนนได้ และระบบควบคุมการประชุม ต้องเป็นไปตามมาตรฐานและกระบวนการรักษาความปลอดภัยของระบบที่ใช้ในการจัด E-Meeting

“นอกจากนี้การดำเนินการประชุม ต้องจัดให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงตนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก่อนการประชุม ต้องมีการจัดทำรายงานการประชุมเป็นหนังสือ และบันทึกภาพและ/หรือเสียง (แล้วแต่กรณี) ของผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนตลอดการประชุม เว้นแต่เป็นการประชุมลับ และให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของรายงานการประชุม ขณะที่ระบบที่ใช้ในการประชุมต้องเป็นไปตามมาตรฐานของประกาศของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)” ศุภชัยแจกแจง

สำหรับ E-Meeting ในการประชุมสามัญประจำปี 2563 ของสภาดิจิทัลฯเมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา มีวาระสำคัญคือการประกาศนโยบายและแผนงานของสภาที่มุ่งเน้นเทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไกลสู่สากล และให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกหลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดพฤติกรรม New normal ที่จะนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ หรือ New Economy

พันธกิจที่ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลฯตอกย้ำ คือ การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนในภูมิภาคโดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวจักรสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ โดยสภาดิจิทัลฯมีภารกิจสำคัญ 5 ประการ คือ 1.กำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัดใหม่แก่ประเทศไทย 2.สร้างความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน 3.พัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4.พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล 5.เสริมสร้างให้ประเทศเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมของโลก

ด้าน ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เผยว่า การประชุมผู้ถือหุ้นออนไลน์ในขณะนี้เพิ่งมีกฎหมายออกมาให้ทำได้ แต่ไม่รู้ว่าจะทำแบบชั่วคราว หรือว่าจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในระยะยาว เพราะที่ผ่านมา การประชุมผู้ถือหุ้นจะจัดในพื้นที่ปิด เพื่อรักษาความลับของบริษัท และมีการโหวตเรื่องสำคัญต่างๆ ด้วย ต้องดูกันต่อไป โดยมีประเด็นจะจัดเรื่องโหวตกันอย่างไร แม้กฎหมายจะเปิดให้ทำได้ แต่ในแง่ของนิติกรรมสัญญาจะต้องมีการแสดงตัว ทำให้ต้องดูว่าจะทำอย่างไรต่อไป ต้องรอแก้ไขกฎหมายให้สามารถดำเนินการได้คล่องตัวมากกว่านี้อีกหรือไม่ หากพฤติกรรมการจัดประชุมผู้ถือหุ้นเปลี่ยนแปลงไปแบบถาวร

หากจัดประชุมผู้ถือหุ้นที่ไม่ได้มีมติในการโหวตเรื่องที่มีสำคัญมากนัก อาทิ การอนุมัติเพื่อจ่ายปันผล ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเพิ่มทุนหรือไม่ได้กระทบกับผลประโยชน์ของนักลงทุนและผู้ถือหุ้น ก็อาจจัดประชุมออนไลน์ได้ แต่ในวาระการประชุมที่มีความสำคัญมากๆ และมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับผู้ถือหุ้น อันนี้ควรจะต้องมาเจอกัน และจัดประชุมในรูปแบบปกติมากกว่า เพราะบางอย่างไม่สามารถทำออนไลน์ได้จริงๆ เพราะต้องมีการแสดงตัว ยืนยันตัวตนที่แท้จริง ยกมือโหวตแบบชัดเจนและนับคะแนนแบบทันที ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องนึกถึง จนกว่าระบบจะมีความพร้อมมากกว่านี้ อาทิ ระบบยืนยันตัวตนหรือแสดงตัวออนไลน์ ระบบในการลงคะแนนเสียงออนไลน์ สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้

“ความจริงแล้วการจัดประชุมผู้ถือหุ้นออนไลน์มีข้อดีมาก ต่างประเทศที่จัดประชุมออนไลน์ แล้วเปิดให้ผู้ที่ไม่ได้ถือหุ้นเข้าร่วมชม เพื่อศึกษาหรือหาข้อมูลได้ก็อาจเป็นโอกาสด้านหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ เพียงแต่ในประเทศไทยยังไม่มีรูปแบบนี้” ณัฐพลให้ความเห็น

“อี-มีตติ้ง” ตาม พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 จึงเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สามารถประชุมหารือเพื่อเดินหน้ากิจกรรมต่างๆ ต่อไปได้ ในภาวะวิกฤตโควิดที่ต้องงด-ลดการพบปะประชุมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image