ความเชื่อมั่นฯ เม.ย. ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์รอบ 21 ปี ครึ่งปีแรกเข้าภาวะถดถอย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนเมษายน 2563 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปรับลดลงอย่างมากจากระดับ 50.3 มาอยู่ที่ 47.2 โดยส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ทำการสำรวจในรอบ 259 เดือนหรือ 21 ปี 7 เดือน หรือนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2542 เป็นต้นมา โดยดัชนีปรับตัวลดลงทุกรายการ แบ่งเป็นดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ลดลงมาที่ระดับ 39.2 จากเดิมที่ ระดับ 41.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม อยู่ที่ 46.0 ลดลงจาก 49.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 56.4 จากเดิมที่ 59.9 เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งดัชนีที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) สะท้อนให้เห็นถึงการที่ผู้บริโภคยังขาดความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก โดยมีสาเหตุมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาวะเศรษฐกิจไทยและการจ้างงานในปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคลดลงในที่สุด

 

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงมาก จากระดับ 33.6 ในเดือนมีนาคมมาอยู่ที่ระดับ 31.5 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 251 เดือนหรือ 20 ปี 11 เดือนนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2542 เป็นต้นมาแสดงว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันแย่มากในมุมมองของผู้บริโภค ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต(ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวลงอย่างมากเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 58.2 มาอยู่ที่ระดับ 54.6 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ทำการสำรวจ 21 ปี 7 เดือน สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต โดยการที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงในทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ทำให้คาดว่าผู้บริโภคจะยังคงชะลอการใช้จ่ายอย่างมากไปอย่างน้อย 3-6 เดือนนับจากนี้เป็นต้นไปจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลายตัวลง และมีการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจอย่างกว้างขวาง พร้อมกับรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

นายธนวรรธน์กล่าวว่า สำหรับปัจจัยบวกในเดือนเมษายน ที่ผ่านมา เป็นมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของรัฐบาล ภาคการส่งออกที่ยังสามารถขยายตัวได้ ส่งผลให้ 3 เดือนแรกยังเกินดุลการค้าอยู่ ดัชนีหุ้นไทยปรับระดับขึ้นกว่า 175 จุด รวมถึงราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับตัวลดลง ส่วนปัจจัยลบที่มีผลกระทบหลักๆยังเป็นความวิตกกังวลของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รัฐบาบประกาศใช้พ...ฉุกเฉิน สั่งปิดห้างสรรพสินค้าและสถานที่ต่างๆ เพื่อคุมโรค ทำให้เกิดการปิดกิจการ ยกเลิกการจ้างงาน และมีแรงงานตกงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พร้อมทั้งขยายเวลาออกไปอีกหนึ่งเดือน รวมถังภัยแล้งที่จะส่งผลต่อผลิตผลทางการเกษตร และรายได้ของเกษตรกร ทำให้ราคาพืชผลทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อทั่วไปในต่างจังหวัดชะลอตัว ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง สะท้อนให้เห็นถึงการไหลออกของเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ รวมถึงการฟื้นตัวช้าของเศรษฐกิจ และยังกระจุกตัวอยู่

Advertisement

เศรษฐกิจถูกบั่นทอนมานานตั้งแต่เกิดสงครามการค้า (เทรดวอร์) ระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำตั้งแต่ไตรมาส 3/2561 เป็นครั้งแรกที่เศรษฐกิจไทยโตต่ำว่า 4% และปี 2562 ก็เป็นครั้งแรกที่โตต่ำกว่า 3% ซึ่งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสะท้อนให้เห็นถึงในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในเชิงเทคนิคเพราะเฉลี่ยแล้วคาดว่าจะติดลบ 8-10% ในครึ่งปีแรก โดยจะติดลบหนักสุดในไตรมาส 2 นี้ เพราะโควิด-19 เพิ่งเริ่มต้นในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา จึงติดลบน้อยกว่า และไทยก็เริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์ในช่วงกลางเดือนมีนาคม ที่ผ่านมาโดยหากประเมินจากภาพรวมพบว่า เศรษฐกิจไทยจะถึงจุดต่ำสุดในช่วงเดือนเมษายน ที่ผ่านมา และเศรษฐกิจไทยจะมีสัญญาณฟื้นตัวในช่วงปลายไตรมาส 3 แต่ยังเป็นลบอยู่ ซึ่งคาดว่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาส 4 ทำให้เป็นภาพการติดลบต่อเนื่อง 3 ไตรมาสนายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวว่า จุดสำคัญที่จะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ ยิ่งทำเร็ว ยิ่งฟื้นได้เร็วคือ 1.การรีสตาร์จธุรกิจสะท้อนจากการเริ่มต้นเปิดธุรกิจใหม่ 6 ประเภทที่ผ่านมา เริ่มเห็นความคึกคักและบรรยากาศกลับมาดูดีขึ้นมากกว่าเดิม ซึ่งหากไม่มีการติดเชื้อที่ร้อนแรงเพิ่มขึ้นมากเกิน 50-60 รายต่อวันภายใน 14 วัน ถือว่าการเริ่มต้นของธุรกิจอีกครั้งทำได้ดี โดยภาพที่ประเมินไว้คือ ตัวเลขการจับจ่ายใช้สอยจะหายไปในระบบเศรษฐกิจกว่า 10,000 ล้านบาทต่อวันในส่วนของการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ซื้อสินค้าจำเป็นและฟุ่มเฟือย ทำให้การเปิดธุรกิจ 6 กลุ่มดังกล่าว และธุรกิจทีาเปิดใหม่อีกครั้ง ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี คาดว่าจะทำให้เม็ดเงินกลับมาเฉลี่ยวันละ 2,000-3,000 ล้านบาททำให้มีเงินเข้ามาในระบเศรษฐกิจเดือนละ 60,000-90,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการลดความสูญเสียของเม็ดเงินที่หายไปในตอนแรกเดือนละประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยหากวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ มีการปลดล็อกมาตรการล็อกดาวน์เฟส 2 ซึ่งนาาจะเปิดครอบคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจสูงถึง 75-80% น่าจะทำให้เม็ดเงินกลับเข้ามาสูงขึ้นเป็น 6,000-8,000 ล้านบาท ทำให้ระบบเศรษฐกิจมีเงินกลับมาเป็นเดือนละ 2 แสนล้านบาท ซึ่งจช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาจากจุดต่ำสุด

นายธนวรรธน์กล่าวว่า สิ่งที่ต้องติดตามต่อคือ หลังจากรัฐบาลช่วยเหลือประชาชนแล้วในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการแจกเงินเยียวยา 5,000 บาท และประกันสังคมช่วยเยียวยาแรงงานด้วย ต้องติดตามต่อไปว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะมีเข้ามาเพิ่มเติม โดยคาดหวังว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาในไตรมาส 3 นี้ หรือในช่วงต้นเดือนสิงหาคมถึงปลายเดือนกรกฎาคม เป็นต้นไป โดยมาตรการกระตุ้นต้องประเมินว่าจะมีออกมาในรูปแบบใด อาทิ ผ่านกองทุนหมู่บ้าน เศรษฐกิจชุมชน การจ้างงานในพื้นที่ ซึ่งหากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยิ่งกระจายตัวไปยังทุกพื้นที่ของประเทศ เกิดการจ้งงานกลับมา โดยเฉพาะการจ้างงานและซื้อวัตถุดิบในท้องถิ่นจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลับมาได้อย่างรวดเร็วขึ้น ซึ่งตอนนี้ยังไม่เห็นภาพมาตรการกระตุ้นของรัฐ ว่าจะออกมาในรูปแบบใด นอกจากนี้ หวังว่าต้นเดือนกรกฎาคมนี้ โควิด-19 น่าจะเริ่มคลายตัวได้ ซึ่งทำให้เกิดการเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น ทั้งการสัมมนา ประชุม หรือเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งหากภาครัฐสามารถดำเนินดารประชุมสัมมนาตามกรอบมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมได้เหมาะสม และกระจายเม็ดเงินไปดูแลภาคการท่องเที่ยว รวมถึงโรงแรมตามต่างจังหวัดได้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะดีขึ้นในไตรมาส 3 และซอฟท์โลนของรัฐบาลที่เตรียมไว้ 4 แสนล้านบาท จะเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ ทำให้ระบบเศรษฐกิจจะฟื้นเร็วหรือช้า ติดลบที่เท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับจังหวะการรีสตาร์จธุรกิจ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะดำเนินในรูปแบบใด เมื่อใด รวมถึงซอฟท์โลนจะเข้ามาช่วยได้เต็มที่หรือไม่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image