รื่นร่มรมเยศ : กุศโลบายเพื่อความสำเร็จ : โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

รื่นร่มรมเยศ : กุศโลบายเพื่อความสำเร็จ : โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

รื่นร่มรมเยศ : กุศโลบายเพื่อความสำเร็จ : โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

มีคนพูดว่ากุศโลบายก็คือการโกหกนั่นเอง แต่คำจำกัดความนี้คงจะ “แรง” ไปสำหรับคำว่า “กุศโลบาย” เพราะตามศัพท์จริงๆ แปลว่า อุบายหรือวิธีที่ฉลาด วิธีที่ฉลาดไม่จำเป็นต้องเป็นวิธีที่โกหกคดโกงเสมอไป

จริงอยู่ วิธีการอาจมองเผินๆ ว่าเป็นการพูด หรือทำ “ไม่ตรง” ตามนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ต้องดูที่เจตนาและผลที่ออกมาว่าพูดหรือทำด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์หรือไม่ ผลที่ออกมานั้นเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือไม่

ยกตัวอย่างที่ผมชอบยกอยู่เสมอคือ มีแม่ทัพท่านหนึ่งนำกองทัพเข้าสู้รบกับข้าศึก กองทัพของตนมีกำลังน้อยกว่ากองทัพของข้าศึก เหล่าทหารทั้งหลายเห็นดังนั้นก็ขวัญไม่ค่อยจะดี แม่ทัพก็ทราบเรื่องนี้

Advertisement

วันหนึ่งแม่ทัพก็พานายทหารเข้าไปไหว้พระในโบสถ์แห่งหนึ่งล้วงเหรียญขึ้นมา กล่าวอธิษฐานดังๆ ว่า ถ้ากองทัพของข้าพเจ้าจะรบชนะข้าศึก ขอให้เหรียญนี้ออกหัว ว่าแล้วก็เขย่าเหรียญในมือโยนลงบนพื้น

เหรียญออกหัว

ท่านแม่ทัพหยิบเหรียญขึ้นมาเขย่า พลางอธิษฐานอีกเป็นครั้งที่สองแล้วโยนลง เหรียญออกหัวเช่นเดิม

Advertisement

ท่านทำอย่างนี้ถึงสามครั้ง เหรียญก็ออกหัวทุกครั้ง เหล่านายทหารทั้งหลายต่างก็ขวัญมาเป็นกอง ที่รู้ว่ากองทัพของตนจะชนะ เพียงไม่กี่นาทีข่าวว่ากองทัพของตนจะรบชนะข้าศึกก็แพร่กระจายไปทั่วกองทัพ ทหารหาญทั้งหลายต่างฮึกเหิม มีกำลังใจ ถึงคราวรบก็รบกันอย่างอุทิศ จนสามารถเอาชนะข้าศึกได้

นายทหารคนสนิทพูดกับท่านแม่ทัพในวันหนึ่งว่า พระเจ้าอวยพรให้เราชนะก็ชนะจริงๆ แม่ทัพล้วงเหรียญขึ้นมาแบให้นายทหารคนสนิทดู พร้อมกล่าวว่า

“ไม่ใช่ดอกคุณ เหรียญนี้ต่างหากที่ช่วยให้พวกเราชนะ”

ปรากฏว่าเหรียญนั้นมีแต่ “หัว” ทั้งสองด้าน ซึ่งแม่ทัพท่านทำขึ้นมาเป็นพิเศษ เพื่อนำมาใช้ในคราวคับขัน

อย่างนี้ก็เรียกว่า “กุศโลบาย” ของแม่ทัพ จะว่าแม่ทัพท่านโกหกหรือไม่ก็แล้วแต่จะคิด แต่ “เจตนา” ของแม่ทัพเป็นกุศลต้องการให้เกิดผลดีแก่ส่วนรวม

ในการดำเนินชีวิตของคนเรานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ปัญญา อย่างน้อยก็ให้รู้จักวิธีแก้ไขปัญหาและวิธีการทำงานให้ประสบความสำเร็จและก้าวหน้าไปด้วยดี

คนทำงานอย่างโง่ๆ ไม่ศึกษาหาความก้าวหน้าในทางความรู้และประสบการณ์ ก็คงไม่ต่างกับตาแก่กับลูกชายจูงลา

ตาแก่คนหนึ่งกับลูกชายอายุประมาณไม่เกิน 10 ขวบ จูงลาผ่านหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชาวบ้านพูดว่า “ดูตาแก่กับลูกชายสิ มีลาอยู่ทั้งตัว จูงตั้งสองคน ทำไมไม่ขี่คนหนึ่ง อีกคนหนึ่งจูง”

ตาแก่ได้ยินดังนั้น จึงให้ลูกชายขึ้นขี่ลา ตัวเองจูงไปได้หน่อยหนึ่งก็มีคนพูดว่า “ดูเด็กน้อยคนนั้นสิ นั่งลาสบาย ปล่อยให้พ่ออายุมากแล้วจูง ทรมานคนแก่เปล่าๆ”

คราวนี้ตาแก่ไล่ลูกชายลง ตัวเองขึ้นนั่งหลังลาให้ลูกชายจูง ผ่านอีกหมู่บ้านหนึ่ง ชาวบ้านพูดว่า “ดูอีตาแก่คนนั้นสิ ให้เด็กตัวเล็กๆ จูงลา ตัวเองขี่สบายใจเฉิบ เอาเปรียบเด็กเหลือเกิน”

ตาแก่รีบลงจากหลังลา คิดหนักจะทำอย่างไร จูงทั้งสองคนก็ถูกว่า ให้ลูกขี่ตนจูงก็ถูกว่า ตนขี่ให้ลูกจูงก็ถูกว่า อย่ากระนั้นเลยขึ้นขี่มันทั้งสองคนดีกว่า ว่าแล้วก็บอกให้ลูกขึ้นขี่ลาพร้อมกับตน ลาเดินหลังแอ่นด้วยความหนัก

ชาวบ้านเห็นเข้าก็ชี้ให้ดูกันว่า “ดูไอ้แก่กับเด็กคนนั้นสิ ขึ้นขี่ลาจนหลังมันแอ่น ทารุณสัตว์เหลือเกินนะ”

นิทานก็เป็นเพียงนิทาน มิใช่เรื่องจริงก็ได้ แต่ “สาระ” ของนิทานก็มีอยู่ เรื่องนี้ต้องการชี้ว่า ปัญญาความรู้เท่านั้นจะเป็นตัวบอกว่าตาแก่ควรจะทำอย่างไรให้ถูกต้องเหมาะสม จะขี่ให้ลูกจูงหรือจะให้ลูกขี่ตัวเองจูง หรือผลัดกันขี่ ความเหมาะสมอยู่ที่ไหนอย่างไร คนมีปัญญาจะรู้เอง

เพราะฉะนั้น ในการดำเนินชีวิตจึงต้องการปัญญาคอยชี้แนะแนวทาง นักสู้ชีวิตควรแสวงหาปัญญาและประสบการณ์ไว้ให้มากอุบายที่จะนำออกใช้จะได้เป็น “กุศโลบาย” (อุบายอย่างฉลาด) มิใช่อุบายโง่ๆ แบบตาแก่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image