“กรมอุทยานฯ”ปรับตัวจัดระเบียบ ท่องเที่ยว “วิถีใหม่”

กรมอุทยานฯžปรับตัวจัดระเบียบ ท่องเที่ยววิถีใหม่ž

ว่าด้วยหลักการหยุด อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติŽ เพื่อหยุดการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ทำให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ประกาศปิดพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

ปรากฏว่าเป็นที่น่าตื่นตา ตื่นใจ เพราะอุทยานทุกพื้นที่ปิดห้ามนักท่องเที่ยวเข้าเป็นเวลาไม่ถึง 2 เดือนดี เหล่าสารพัดสัตว์ป่า สัตว์น้ำ สัตว์หายาก ที่ไม่ค่อยจะมีใครเห็นได้บ่อยนัก ก็ออกมาปรากฏตัวเดินเล่นในป่า ว่ายน้ำเล่นอย่างสบายใจ ปราศจากความกังวลว่าจะมีใครทำร้าย

เรามีโอกาสได้เห็นภาพ ช้างเดินกันเป็นโขลงใหญ่ข้ามถนนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหลายๆ แห่ง ทั้งเขาใหญ่ กุยบุรี แก่งกระจาน ฯลฯ

การปรากฏตัวของหมี และเสือดาวบนถนน รอบอุทยานแห่งชาติ หรือกระทั่งการรวมฝูงกันครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การบันทึกของประเทศไทยที่สามารถเห็นโลมาปากขวดนับร้อยตัวว่ายน้ำเล่นกับเรือตรวจการณ์ของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสิมิลัน และการบันทึกภาพ พบฝูงพะยูนมากกว่า 30 ตัว ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง

Advertisement

ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ นายสัตวแพทย์ (นสพ.) ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ระบุว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีที่สุด เพราะโอกาสที่พะยูน

จะมารวมฝูงกันมากมายขนาดนี้แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นมาเลย เพราะอย่างมาก เราจะเห็นพะยูนพร้อมกันมากที่สุดไม่เคยเกิน 5-6 ตัวเท่านั้น เพราะสัตว์พวกนี้ค่อนข้างจะอ่อนไหว ขี้กลัว ขี้หวาดระแวง การปรากฏตัวในรูปแบบว่ายน้ำตีกรรเชียงอย่างสบายใจเช่นนี้ เพราะพวกมันเกิดความมั่นใจต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมรอบตัวว่าปลอดภัย

การรวมตัวเป็นฝูง เป็นโขลง หรือเป็นกลุ่มใหญ่ๆ เป็นโอกาสที่ดีของการคัดเลือกสายพันธุ์อย่างมาก เพราะการมารวมตัวกันทำให้สัตว์เหล่านี้ได้มีโอกาสเหมือนกับการเลือกคู่ ที่มีความหลากหลาย ทำให้สัตว์ที่จะเกิดมาในรุ่นต่อไปเป็นสายพันธุ์ที่ดี มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง

Advertisement

ขณะที่ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น กรมอุทยานฯได้ร่วมหารือกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว เบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า นับแต่นี้ต่อไป จะให้อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศทั้ง 133 แห่ง ทำแผนปิดพื้นที่อุทยานเพื่อให้ทรัพยากรในพื้นที่ได้ฟื้นฟูตัวเอง ปีละ 1 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 2 เดือน ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เรื่องนี้ก็เป็นไปตามนโยบายของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยู่แล้วจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้เราต้องปิดอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าทั่วประเทศ

“แม้ว่าทำให้เราต้องเสียรายได้ไปจำนวนมาก แต่สิ่งที่เราได้กลับมาที่เห็นได้ชัดมากก็คือ การฟื้นคืนมาของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เป็นมูลค่ามหาศาลที่ประเมินราคาไม่ได้ ผมสั่งการให้หัวหน้าอุทยานทุกแห่งทำแผนมาว่า ต่อไปนี้ เราจะต้องปิดทำการ คือ ห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่ เพื่อให้ทรัพยากร สัตว์ป่าได้พัก ได้ฟื้นฟูตัวเอง อย่างน้อยปีละไม่ต่ำกว่า 2 เดือน ตัวอย่าง อุทยานเขาใหญ่ แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมามาก อันดับต้นๆ ของประเทศ ปัญหาก็มีมาก เช่น เรื่องขยะที่เกิดขึ้น มีสัตว์ป่าออกมากินขยะ และที่ผ่านมา เราไม่เคยปิดเขาใหญ่เพื่อให้ทรัพยากรได้พักจากการไปท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวเลย แต่ต่อไปนี้ เขาใหญ่จะต้องปิดทำการ เพื่อให้ทรัพยากรได้มีโอกาสฟื้นฟูแล้ว เพราะเราเห็นผลชัดเจนมาจากการปิดอุทยาน เนื่องมาจากการลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ว่าทรัพยากรในทุกพื้นที่ดีขึ้น”Ž นายธัญญากล่าว

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ปกติก็จะปิดทำการอยู่แล้วปีละ 1 ครั้งในช่วงฤดูมรสุม ก็ต้องทำแผนเพิ่มเติมเข้ามาช่วงที่ปิดทำการนั้นจะดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งแต่ละแห่งก็จะมีวิธีปฏิบัติที่ไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติทางทะเลจะมีความแตกต่างจากอุทยานทางบก คือ มีเรื่องของการท่องเที่ยวที่บริษัททัวร์บางแห่งอาจจะเปิดการขายตั๋วล่วงหน้า สำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ อุทยานจึงต้องประกาศเป็นนโยบายออกมาให้ทราบชัดเจนว่าจะมีการปิดทำการในช่วงวันไหน เพื่อให้บริษัททัวร์ได้บริหารจัดการเวลาได้อย่างเหมาะสมด้วย

”การปิดทำการอุทยานแห่งชาตินั้นจะปิดเฉพาะเรื่องการบริการนักท่องเที่ยว ห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไป แต่เจ้าหน้าที่ทุกคนยังคงปฏิบัติงานทุกวันตามปกติ โดยเฉพาะเรื่องการลาดตระเวนรักษาป่า เจ้าหน้าที่ทุกคนยังปฏิบัติงานทุกวันตามเดิม”Ž นายธัญญากล่าว

นายสมปอง ทองสีเข้ม ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า มีรายงานเข้ามายังสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าว่า ภายหลังจากกรมอุทยานแห่งชาติประกาศปิดพื้นที่ทั้งอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า สัตว์ป่าในทุกพื้นที่ออกมาปรากฏตัวให้เห็นมากขึ้น ทั้งผ่านกล้องถ่ายภาพสัตว์ป่า หรือแคเมราแท็ปส์ การที่เรามีโอกาสเห็นสัตว์ป่า โดยเฉพาะกลุ่มสัตว์ป่าหายาก เช่น เสือ โดยเฉพาะเสือโคร่งได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินผ่านแคเมราแท็ปส์ หรือกระทั่งการถ่ายภาพได้ของเจ้าหน้าที่ แสดงให้เห็นว่าในป่าเรา โดยเฉพาะป่าอนุรักษ์นั้น มีสัตว์ป่าจำนวนมากและเราก็ดูแลสัตว์พวกนี้ดีมาก จากการที่เรานำเอา สมาร์ท พาโทล หรือ ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพมาใช้ ทำให้เรามีข้อมูล และสามารถสกัดการรุกรานสัตว์ป่าของกลุ่มพรานได้ดีมากขึ้นมากŽ นายสมปองกล่าว

ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติมีทีมเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนป่าทั่วประเทศ 1,225 ทีม ใน 213 พื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศ ทุกทีมได้รับการฝึกฝนเรื่องการดูแลป่า การเก็บข้อมูลทุกสิ่งสำหรับการทำงานอนุรักษ์ค่อนข้างแข็งขัน โดยตลอดระยะเวลาการปิดทำการทำพื้นที่นั้น แต่เจ้าหน้าที่เหล่านี้ยังคงปฏิบัติงานทุกวัน ข้อมูลที่น่ายินดีคือ กล้องแคเมราแท็ปส์สามารถจับภาพเสือโคร่งได้ ในแทบทุกพื้นที่ ที่มีรายงานว่ามีเสือโคร่งอยู่ จากเดิมที่เสือเหล่านั้นไม่ค่อยจะปรากฏตัวให้เห็นบ่อยนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสือโคร่งแม่ลูกอ่อน ที่เจอหลายคอกมาก

”สูงสุดที่เราเห็นเวลานี้ คือ แม่เสือกำลังเลี้ยงลูก 4 ตัว การเลี้ยงลูก 4 ตัว ของเสือโคร่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะครับ เพราะเสือโคร่งถือเป็นสัตว์ที่อยู่ชั้นบนสุดของห่วงโซ่อาหาร พื้นที่ป่าแห่งไหนที่มีเสือโคร่งอยู่ แสดงว่าพื้นที่นั้นต้องมีเหยื่อที่อุดมสมบูรณ์ และไม่มีปัจจัยคุกคาม ซึ่งปริมาณของเสือโคร่ง รวมไปถึงการปรากฏตัวของสัตว์ชนิดต่างๆ ที่เราไม่ค่อยจะเห็นกันบ่อยนัก ในเวลานี้ก็เป็นตัวชี้วัดเรื่องความอุดมสมบูรณ์ที่เป็นอยู่ของป่าในบ้านเราเวลานี้เช่นกัน”Ž นายสมปองกล่าว

ถือเป็นความปกติใหม่ หรือ New Normal ในยุคโควิด-19

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image