“อ.ธรณ์” ชี้ ปิดอุทยานฯปีละ 3 เดือน เป็นเรื่องซับซ้อน ไม่ง่าย เหมือนแค่ออกคำสั่ง

“อ.ธรณ์” ชี้ ปิดอุทยานฯปีละ 3 เดือน เป็นเรื่องซับซ้อน ไม่ง่าย เหมือนแค่ออกคำสั่ง

 

วันที่ 9พฤษภาคม รศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) โพสต์เฟชบุ๊ก เรื่องแนวคิดการปิดอุทยานแห่งชาติ ปีละ 3 เดือน ของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) โดยระบุว่า

“แนวคิดปิดอุทยานปีละ 3 เดือนของท่านรมต. ถือเป็นแอคชั่นแรกๆ ของ new normal หลังโควิด

เป็นเรื่องดีครับ แต่ในทางปฏิบัติอาจต้องวางแผนให้รอบคอบและครบถ้วน โดยเฉพาะอุทยานทางทะเล

Advertisement

อุทยานทางทะเล 26 แห่งของไทย ตั้งอยู่กระจายไปทุกพื้นที่ มีทรัพยากรต่างกัน มีการใช้ประโยชน์ต่างกัน

บางอุทยาน เช่น ลำน้ำกระบุรี พูดชื่อไปแทบไม่มีใครรู้จัก มีนักเที่ยวทั้งปีแค่หมื่น

บางอุทยาน เช่น พีพี เกาะเสม็ด สิมิลัน ฯลฯ มีนักท่องเที่ยวหลายแสน บางแห่ง 2+ ล้าน (พีพี)

แม้แต่อุทยานที่มีคนเยอะ กลุ่มนักท่องเที่ยวก็ต่างกัน

บางแห่ง 95% เป็นต่างชาติ บางแห่งไทยครึ่งต่างชาติครึ่ง บางแห่งไทยเยอะต่างชาติน้อย

บางอุทยานปิดตามฤดูอยู่แล้ว เช่น สิมิลัน สุรินทร์ ปีละเกิน 3 เดือน พวกนั้นคงไม่ยาก

บางแห่งปิดบางพื้นที่ในบางฤดูกาล เช่น ลันตาปิดเกาะรอกฤดูมรสุม แต่อุทยานยังเปิดอยู่

บางแห่งมีพื้นที่ปิดถาวร เช่น พีพีมีเกาะยูง สิมิลันมีตาชัย

บางแห่งเปิดตลอดปีไม่มีปิด เช่น สิรินาถ ทะเลบัน เกาะเสม็ด

ผมยังไม่ได้จัดกลุ่มให้ชัดเจน เพราะนั่นต้องใช้พลังงานเยอะหน่อย

แต่เอามาให้เพื่อนธรณ์ดูคร่าวๆ ว่ามันซับซ้อนมาก

และอุทยานเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเต็มๆ สร้างรายได้มหาศาล เอาเฉพาะภูเก็ตก็ปีละ 4.4 แสนล้าน

การอนุรักษ์ที่รอบคอบ จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวที่ดีงาม จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน จะทำให้เกิดเศรษฐกิจที่พอเพียง

อยากทำเช่นนั้น เราต้องมองครบทุกมุม เอาข้อมูลมาซ้อนเป็นชั้นๆ

สภาพทรัพยากร แนวปะการัง แหล่งสัตว์หายาก แหล่งท่องเที่ยวระดับต่างๆ ฯลฯ

จากนั้นดูในภาพใหญ่รวมกัน โดยแบ่งให้ถูกต้อง

เช่น กลุ่มนักเที่ยวภูเก็ตไปไหน กระบี่ไปไหน เพราะบางวันไม่ได้เข้าแค่อุทยานเดียว

ภาพใหญ่ยังอาจสัมพันธ์กับการท่องเที่ยว จะมีคลัสเตอร์อยู่แล้ว เช่น อันดามัน สมุย ตะวันออก ฯลฯ

เมื่อข้อมูลฐานเรียบร้อย ค่อยเขยิบขึ้นมาเป็นลำดับ จากกรมมากระทรวง

 

ทะเลไทยไม่ได้มีเพียงอุทยาน พื้นที่ธรรมชาติสำคัญอีกครึ่งหนึ่งอยู่ในการดูแลของกรมทะเล

สัตว์หายากที่เข้ามา หลายพื้นที่ไม่ใช่อุทยาน เช่น เต่ามะเฟืองเกินครึ่งออกไข่นอกเขตอุทยาน พะยูนบ้านเพว่ายข้างนอก ฯลฯ

แน่นอนว่าหากเริ่มจากอุทยานที่มีกม.ชัดเจนอยู่เป็นเรื่องดี แต่นี่เป็นขั้นแรก ยังมีอีกหลายขั้นที่ต้องมองในภาพรวม

จากกรม/กรม มาถึงกระทรวง พูดคุยข้ามกระทรวง รัฐ/เอกชน ทรัพยากร/ท่องเที่ยว เพื่อให้ได้แผน new normal ทั้งหมด

เมื่อได้แผนคร่าวๆ ว่าจะปิดเปิดที่ไหนอย่างไร ลองกลับไปที่พื้นที่ พูดคุยปรับเปลี่ยนให้เหมาะ จากนั้นส่งมารวมกันอีกที แล้วค่อยลงมือทำให้เกิดผลทางปฏิบัติ

ทั้งหมดนี้ จะเห็นว่าซับซ้อนและกินเวลาพอสมควร

ไม่ง่ายเหมือนแค่สั่งไปให้แต่ละอุทยานหาเวลาปิด 3 เดือนมา จากนั้นก็เอามารวมกันแล้วออกประกาศ

แต่ถ้าง่ายไปมันอาจเกิดปัญหา กระทบต่อการท่องเที่ยวที่กำลังต้องการการฟื้นตัวอย่างเร็ว

และเมื่ออนุรักษ์ปะทะท่องเที่ยว ในช่วงที่ประเทศต้องการฟื้นตัวเรื่องปากท้อง ผมพอมองเห็นว่าใครจะชนะ

ทั้งหมดนี้ อย่าเข้าใจผิด ผมสนับสนุนแนวคิดของท่านรมต. ที่สอดคล้องกับกระแสคนไทยที่อยากรักษาธรรมชาติดีๆ ไว้ให้อยู่ต่อไปนานๆ

ปิด 3 เดือน ปิด 4-5-6 เดือน ยิ่งนานผมยิ่งชอบ

แต่ผมก็ทราบดีว่าพอถึงเวลาจริง หากไม่รอบคอบ เราก็เจอกระแสต้าน

หากเรารอบคอบ เริ่มต้นแบบเหนื่อยหน่อย เราจะได้ระบบที่ดีและถาวร

และการอนุรักษ์จะไปคู่กับการพัฒนาได้ ไม่งั้นเขาก็จะบ่นเหมือนสมัยก่อน

เอะอะก็อนุรักษ์ คนจะอดตายอยู่แล้ว

ผมไม่อยากให้เกิดเหตุแบบนั้น เพราะสุดท้ายอนุรักษ์ก็จะแพ้

ผมอยากให้เราชนะไปด้วยกัน

วันนี้หากไม่มีอะไรผิดพลาด จะไปออก TV รายการสด NBT (ช่อง11) บ่ายสี่ ก็จะพูดเรื่องนี้แหละ

ให้กำลังใจท่านรมต.และผู้บริหารในกระทรวง สนับสนุนแนวคิด และอยากให้เริ่มต้นอย่างมั่นคงครับ ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image