สธ.ตอบชัด ‘เดินทางข้ามจังหวัด’ ต้องกักกันตัวหรือไม่?

สธ.ตอบชัด “เดินทางข้ามจังหวัด” ต้องกักกันตัวหรือไม่?

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวถึงความสำคัญของสถานที่กัดกันที่รัฐบาลจัดไว้ (state quarantine) และสถานที่จัดกันในท้องถิ่น (local quarantine)

นพ.ขจรศักดิ์กล่าวว่า เริ่มต้นของการจัดสถานที่กักกันที่รัฐบาลจัดไว้เริ่มจากเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ได้มีการนำประชาชนชาวไทยกลับจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน และได้เข้ากักกันเพื่อป้องกันโรค ต่อมามีการกักกันแรงงานไทยผิดกฎหมายในประเทศเกาหลีใต้ จึงเป็นที่มาของการทำสถานที่กักกันโดยรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบ ประเทศไทยมีทั้งหมด 3 รูปแบบ คือ 1.สถานที่กักกันที่รัฐบาลจัดไว้ (State quarantine) รับผิดชอบโดยกระทรวงกลาโหม ในส่วนของกองทัพไทยเป็นหลัก 2.สถานที่กักกันที่ท้องถิ่นจัดไว้ (Local quarantine) ซึ่งทุกจังหวัดจะต้องมีพื้นที่รองรับผู้ที่เดินทางเข้ามายังจังหวัดของตนเอง รับผิดชอบโดยกระทรวงมหาดไทย ในส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัด และ 3.การกักกันตนเองที่บ้าน (Home Quarantine) โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปตรวจสอบว่าสถานที่บ้านสามารถกักกันได้หรือไม่ เช่น หากเป็นบ้านหลังเล็ก มีผู้สูงอายุหรือมีผู้ที่มีโรคประจำตัวอาศัยอยู่ร่วมกันก็ไม่สามารถทำการกักกันได้ ดังนั้นท่านก็จะต้องเข้ามากักกันในพื้นที่ท้องถิ่น

นพ.ขจรศักดิ์กล่าวว่า ภายหลังจากการประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เริ่มมีการกักกันผู้เดินทางคนไทยที่เดินทางเข้าประเทศทุกราย เข้าสู่สถานกักกัน เช่น ฐานทัพเรือสัตหีบ โรงเรียนการบินกำแพงแสนของกรมการบิน สะสม 4,071 ราย พบผู้ติดเชื้อ 21 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.25 สถานที่กักกันมีจุดเด่น/ความสำคัญของสถานกักกัน คือ 1.การแยกกันอยู่อย่างชัดเจน เว้นระยะห่างทางสังคม 2.สถานการณ์จะดีขึ้นโดยการไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยแล้วเกิดการระบาดเพิ่ม ขณะนี้มีโรงแรมที่รอประเมินตนเองในการเป็นสถานที่กักกันที่รัฐบาลจัดไว้ (state quarantine) กว่า 100 แห่ง ถูกใช้งานไปแล้วจำนวน 20 แห่ง โดยเข้ากักกันจะไม่เสียค่าใช้จ่ายในการพักอาศัยใดๆ รัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย และอีก 3 แห่งเป็นโรงแรมที่ผู้เข้ากักกันจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง โดยรวมแล้วมีห้องทั้งหมดกว่า 5,000 ห้อง

“ในช่วงแรกอาจจะเกิดความล่าช้าในการนำคนไทยเข้าสู่สถานที่กักกัน แต่ใน 1 เดือนที่ผ่านมานั้น จำกัดผู้เดินทางประมาณ 300 คน/วัน โดยจะต้องเป็นคนไทยเท่านั้น และมีห้องรองรับเหลือประมาณกว่า 1,000 ห้อง ซึ่งสามารถเพิ่มยอดจำนวนผู้เข้าใช้ได้” นพ.ขจรศักดิ์กล่าว

Advertisement

นพ.ขจรศักดิ์กล่าวว่า กรณีผู้เดินทางระหว่างจังหวัดภายในประเทศไทย ที่มีหลายคนถามว่าจะต้องเข้าสถานกักกันในท้องที่ (local quarantine) หรือไม่ สามารถอธิบายได้ว่า มาตรการขึ้นอยู่ตามแต่ละจังหวัด ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ขณะนี้มีอยู่เพียงไม่กี่จังหวัด ที่มีมาตรการกักกันเมื่อเข้าพื้นที่ เช่น ภูเก็ต ตรัง กระบี่ และพังงา ดังนั้นจะเดินทางภายในประเทศจะต้องดูว่าปลายทางนั้นมีมาตรการอย่างไร เพื่อการปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง แต่ในส่วนของกรุงเทพมหานครยังไม่มีการประกาศให้กักกันตัว เมื่อเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งสามารถเดินทางเข้ามาได้

 

Advertisement

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image