‘สมาคมภัตตาคารไทย’ สร้างมาตรฐานใหม่รอกลับมาเปิดธุรกิจอีกครั้ง โอดรัฐตั้งเงื่อนไขทำได้ยาก

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และอนุญาตให้ร้านอาหารขนาดเล็กกลับมาเปิดให้บริการตามปกติแล้ว ในระยะถัดไป จะเป็นคิวของร้านอาหารที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า หรือร้านที่มีขนาดเกิน 200 ตารางเมตร ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการได้เตรียมพร้อมในการกลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง ทั้งในเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย และมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งต้องบอกว่าความจริงแล้ว ร้านอาหารขนาดใหญ่ มีความพร้อมและมีศักยภาพในการเตรียมรับมือ และสร้างมาตรฐาน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัส อาทิ การเตรียมพร้อมเจลล้างมือไว้บริการ การจัดพนักงานคอยตรวจวัดอุณหภูมิของลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการ เพื่อให้แน่ใจในความปลอดภัยจริงๆ

นางฐนิวรรณกล่าวว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้สั่งปิดห้างและร้านอาหารขนาดใหญ่ ซึ่งคณะทำงานของภาคเอกชน นำโดยนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ประสานกับภาคเอกชนด้วยกัน ในการจัดทำมาตรฐานความปลอดภัย และเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดร้านอาหารกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ตั้งแต่ช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสิ่งที่ต้องดำเนินการและปฏิบัติในรูปแบบเดียวกันคือ 1.ตั้งจัดระบบเครื่องปรับอากาศของร้านให้มีความปลอดภัยมากขึ้น เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และไม่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อไวรัส 2.การจองที่นั่งออนไลน์ เพื่อลดความแออัดในการเข้าใช้บริการที่ร้านอาหาร 3.ใช้ระบบคิวอาร์โค้ดในการยืนยันตัวตน เพื่อให้สามารถติดตามตัวได้ และสั่งอาหารผ่านช่องทางดังกล่าวได้ 4.ลดการสื่อสารและสัมผัสตัวระหว่างลูกค้าและพนักงาน 5.พนักงานต้องตรวจสุขภาพและมีใบยืนยันความพร้อมในการให้บริการ และ 6.ขั้นตอนการประกอบอาหารและการบริการลูกค้า ทุกขั้นตอนต้องมีความสะอาดอย่างแท้จริง รวมถึงการทำความสะอาดหลังจากลูกค้าใช้บริการแล้วเสร็จ

นางฐนิวรรณกล่าวว่า เบื้องต้นที่หารือกัน ภาคเอกชนขอให้คลายล็อกและเปิดธุรกิจร้านอาหารก่อน โดยเฉพาะร้านอาหารหรือภัตตาคารขนาดใหญ่ เพราะเตรียมความพร้อมและมีศักยภาพในการป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสค่อนข้างมาก แต่จากการประเมินของแพทย์ มีความเห็นว่าร้านอาหารขนาดเล็ก ที่เปิดโล่งมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อได้น้อยกว่า เพราะอากาศสามารถถ่ายเทได้สะดวก จึงอนุญาตให้เปิดร้านอาหารขนาดเล็กในช่วงระยะเริ่มต้นก่อน ซึ่งสวนทางกับร้านขนาดใหญ่ที่เตรียมมาตรฐานและความพร้อมทุกอย่าง เพื่อกลับมาเปิดบริการตามปกติไว้พร้อมแล้ว

“ข้อจำกัดในการนั่งรับประทานอาหารในร้านอาหารหรือภัตตาคารโต๊ะละ 1 คน และจัดโต๊ะห่างกันตามที่รัฐกำหนดช่วงระยะห่างไว้ ซึ่งความจึงแล้วเงื่อนไขดังกล่าวทำได้ยากมาก และดูจะเป็นเรื่องตลกเล็กน้อย เพราะหากสมมุติว่า มีลูกค้ามาพร้อมกัน 4 คน เดินทางมาด้วยกัน อยู่บ้านเดียวกัน ใส่หน้ากากอนามัยมาด้วยกัน แต่พอมาใช้บริการที่ร้านอาหาร ไม่สามารถนั่งร่วมโต๊ะกันได้ ทั้งที่ก่อนหน้านั้น ตัวแทบจะติดกันตลอดเวลา ก็เป็นเรื่องที่ดูไม่สอดคล้องกันนัก และทำให้สิ่งที่ผู้ประกอบการเตรียมไว้ ทั้งมาตรฐานและข้อปฏิบัติ ไม่ตรงกับข้อจำกัดของรัฐบาลมากนัก แต่หากอยากกลับมาเปิดใหม่ตามปกติ ก็ต้องทำตามเงื่อนไขดังกล่าว ซึ่งก็พร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ตามเดิม เพียงแต่มองว่าข้อกำหนดหรือกฎหมายใดๆ ที่ออกมาแล้วขัดกับบรรทัดฐานและความเคยชินของสังคม มันย่อมปฏิบัติตามได้ยากอยู่แล้ว” นางฐนิวรรณกล่าว

Advertisement

นางฐนิวรรณกล่าวว่า ผลกระทบจากร้านอาหารที่ต้องปิดตัวลง หรือแม้แต่กลับมาเปิดใหม่ แล้วยอดขายหรือรายได้ลดลง ไม่ได้ส่งผลแค่กับผู้ประกอบการที่เสียรายได้ไปเท่านั้น แต่กระทบลูกจ้างที่ได้รับค่าตอบแทนลดลงด้วย เพราะผู้ประกอบการไม่มีรายได้ จะเอาเงินจากไหนไปเป็นค่าใช้จ่ายให้แรงงาน ขณะนี้ที่หากยอดขายร้านอาหารตก จากเดิมที่ผู้ประกอบการเคยสั่งซื้อวัตถุดิบ ที่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรจำนวนมากๆ อาทิ เคยสั่งปลา 100 ตัว สั่งผัก 10 อย่าง อย่างละ 10 ตัน ทุกอย่างลดลงเหลือสั่งเพียงครึ่งเดียว เกษตรกรหรือพ่อค้าแม่ค้าวัถุดิบเหล่านั้น ก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย ทำให้การที่ธุรกิจไม่ได้หมุนตามปกติ จะส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่ไปในหลายภาคส่วน การพยายามทำให้ทุกอย่างกลับมาขับเคลื่อนตามปกติ จึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image