จาก ‘สิงคโปร์’ สู่ ‘สมุทรสาคร’ โมเดลสกัดโควิด

จาก ‘สิงคโปร์’ สู่ ‘สมุทรสาคร’ โมเดลสกัดโควิด

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ได้หยิบยกสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศสิงคโปร์มาเป็นกรณีศึกษาตัวอย่าง เพราะสิงคโปร์มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 1,426 รายในวันเดียว ซึ่งกว่า 60% ของผู้ติดเชื้อในสิงคโปร์ สัมพันธ์กับแรงงานข้ามชาติที่อาศัยในหอพัก เนื่องจากในสิงคโปร์มีแรงงานข้ามชาติอยู่มากกว่า 323,000 คน ซึ่งกระจายอยู่ในหอพัก 43 แห่ง และในแต่ละห้องนอนอาจอาศัยรวมกันกว่า 12-20 คน

โดยแรงงานคนแรกที่พบการติดเชื้อนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ เป็นชาวบังกลาเทศ ก่อนจะพบการติดเชื้อกลุ่มก้อนใหญ่ในหอพักวันที่ 30 มีนาคม เริ่มจากการติดเชื้อเพียง 4 คน ก่อนจะกระจายพบผู้ติดเชื้อนับพันคน

ขณะนี้สิงคโปร์มีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สะสมรวม 21,707 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

Advertisement

ประเทศไทยจึงหวาดหวั่นว่าจะซ้ำรอยสิงคโปร์ เพราะไทยเองมีแรงงานต่างด้าว หรือแรงงานข้ามชาติหลายแสนคน

โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรสาคร เป็นเมืองอุตสาหกรรมและการประมง มีคนพื้นถิ่นและแรงงานไหลเข้ามากว่า 5 แสนคน โดยมีแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนไว้ไม่น้อยกว่า 2 แสนคน และแรงงานต่างด้าวที่ยังคงเดินทางเข้าออกลักลอบทำงานใต้ดินอีกจำนวนหนึ่ง

จึงทำให้จังหวัดสมุทรสาครถูกจับตามองเป็นพิเศษจึงผุด “สมุทรสาครโมเดล” ออกมาตรการและแนวทางต่างๆ ที่จะต้องดำเนินการเพื่อการควบคุม ป้องกัน แก้ไข ตลอดจนการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้ครอบคลุมทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าวด้วย ซึ่งตัวเลข ล่าสุด ณ วันที่ 9 พฤษภาคม จังหวัดสมุทรสาครจะไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่และตัวเลขผู้ป่วยจากเดิมที่มีอยู่ทั้งหมด 18 รายกลายเป็นศูนย์แล้ว

ประเด็นนี้ นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ขยายความว่า พื้นที่ของสมุทรสาคร เป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างล่อแหลมมีปัจจัยหลายอย่างที่เอื้อต่อการแพร่เชื้อโรคไวรัสโควิด-19

ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมหรือแรงงานต่างด้าว อีกทั้งยังมีส่วนหนึ่งของปริมณฑลที่ติดกรุงเทพฯ ก็เลยถูกจัดให้เป็นพื้นที่ Model ในหลายเรื่อง ซึ่งเรื่องที่สำคัญมากๆ ที่จังหวัดสมุทรสาครดำเนินการอย่างเข้มข้นเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทย คือเรื่อง การสวมหน้ากากผ้าก่อนออกจากบ้าน 100 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งเป็นสิ่งที่เราศึกษาเรื่องนี้มาอย่างดี จนกระทั่งทางโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง ประกาศให้การสวมหน้ากากผ้าเป็นส่วนหนึ่งของการติดต่อประสานงานกับทางโรงพยาบาล คือ ถ้าใครก็ตามแต่ที่มาเยี่ยมไข้ หรือมาประสานงานกับทางโรงพยาบาล แล้วไม่ใช้แมสก์ก็จะติดต่อไม่ได้

ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้ได้นำไปสู่การจุดประกายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาครเห็นชอบตรงกันว่า เรื่องแมสก์เป็นสิ่งสำคัญและจะเป็นอาวุธหลักที่ใช้ในการทำสงครามกับเชื้อไวรัสโควิด-19

สำหรับ “สมุทรสาครโมเดล” คือ โครงการตรวจคัดกรองเชิงรุกทั้งในกลุ่มแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว ก็คือ เราไม่ยอมอยู่กับที่ เพื่อรอคนไข้เดินมาหา แต่เราใช้มาตรการเชิงรุกเดินเข้าไปหากลุ่มเสี่ยงเพื่อคัดกรองว่า มีผู้ติดเชื้อซุกซ่อนอยู่หรือไม่

โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มผู้ต้องขัง กลุ่มผู้ใช้แรงงานต่างด้าว กลุ่มผู้ที่ขับรถยนต์โดยสารที่ต้องเจอพบปะผู้คนหลากหลาย เป็นต้น ซึ่งมาตรการเชิงรุกเข้าหากลุ่มเสี่ยงนี้ ถือว่าเป็นนโยบายที่เกี่ยวเนื่องมาจากการทำเมืองสมุทรสาครให้น่าอยู่ ให้ปลอดโรค ปลอดภัย และพร้อมที่จะตั้งรับกับโควิด-19 ระลอกที่ 2 ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย โดยจากการสุ่มตรวจกลุ่มเปราะบางด้วยวิธีตรวจน้ำลายในพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอ จำนวน 2,100 ราย ไม่พบเชื้อปรากฏ

แนวทางต่อมาที่สัมพันธ์กันกับเรื่องของการสวมหน้ากากผ้า ก็คือ เรื่องของการพัฒนาความสะอาดตลาด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดชุมชนต่างๆ ในเขตเทศบาลนครสมุทรสาครที่ขึ้นชื่อคือ ฝั่งมหาชัยกับฝั่งท่าฉลอม เพราะที่นี่เป็นศูนย์กลางอาหารทะเลของประเทศไทย เราจึงต้องทำให้ตลาด 2 ฝั่งนี้มีคุณภาพได้มาตรฐาน ซึ่งมาตรการในการควบคุมตลาดนั้น ก็ได้วางแนวทางไว้ทั้ง “จับ ปรับ ปิด” คือ หากพ่อค้าแม่ค้าไม่ปฏิบัติตามเช่นเรื่องของการสวมแมสก์ ก็อาจจะจับมาเตือนก่อน

แต่ถ้ายังฝืนอีกก็ต้องสู่การปรับ และถ้าเจ้าของหรือผู้ดูแลตลาดปล่อยปละละเลย เรื่องของการปฏิบัติตามมาตรการจังหวัดที่ออกมาบังคับใช้ภายใต้การผ่อนปรนนั้น ก็จะต้องถูกสั่งปิดตลาดเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะดำเนินแก้ไขแล้วเสร็จ

การเว้นระยะห่างทางสังคม SOCIAL DISTANCING ถือว่าเรื่องนี้เราให้ความสำคัญค่อนข้างมาก แต่ว่าการปฏิบัติอาจจะยังไม่ได้ตามที่ต้องการ 100% โดยที่เป็นอยู่ตอนนี้น่าจะได้แค่ 60-80% แต่ถือว่าดีขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้สังคมก็เริ่มตื่นตัวเรื่องนี้มากขึ้น เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นนวัตกรรมใหม่ที่จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงของสมุทรสาครในจังหวะก้าวต่อไป ทั้งเรื่องการบริโภคและการใช้ชีวิตประจำวันหรือวัฒนธรรมต่างๆ จะไม่เหมือนเดิม หรือที่เรียกกันว่า New Normal

การทำงานเชิงรุกในสถานการณ์โควิด-19 นี้ก็ย่อมต้องมีแรงต้านจากประชาชนบางคนที่ไม่ยอมทำตามเป็นเรื่องธรรมดา เพราะพวกเขาต้องการที่จะกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม ไม่ว่าจะทั้งเรื่องของการสวมหน้ากากผ้าที่หลายคนเริ่มหย่อนยานลง เพราะคิดว่าตัวเลขดีขึ้นแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากผ้าอีกต่อไป แต่นี่คือสิ่งที่จะทำให้เขาเดินไปสู่ความตายได้, เรื่องของการปรับปรุงตลาด ที่หลายคนมองว่าไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแค่ทำให้เหมือนเดิมก็พอแล้ว แต่นี่คือสิ่งที่จะทำให้ตลาดสูญหายไปได้ในอนาคต

หรือแม้แต่เรื่องของ SOCIAL DISTANCING หากไม่ยอมเว้นระยะห่างระหว่างกัน ก็จะทำให้การติดเชื้อเป็นไปได้ง่าย และยากต่อการควบคุมได้เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ หากผู้ว่าฯท้อถอย หมอ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ท้อแท้ ทุกคนท้อใจไม่สู้ ไม่เดินหน้าต่อ เราก็จะพ่ายแพ้

เพราะวันนี้อย่าลืมว่า เรายังไม่ชนะโควิด-19 แต่เราแค่เป็นต่อที่สามารถป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดได้ในระดับหนึ่งเท่านั้นเอง ส่วนผลสุดท้ายจะออกมาเป็นอย่างไรต้องดูกันตอนจบเมื่อพบวัคซีนป้องกันโรค

เพราะหากในช่วงที่รอการค้นคว้าหาวัคซีนนี้ ประเทศไทยไม่มีการแพร่ระบาดหนักขึ้น ก็ถือว่าเราชนะอย่างสมบูรณ์แบบ แต่ถ้าในระหว่างที่รอวัคซีนนี้ หากคนสมุทรสาครการ์ดตก ทำให้เชื้อโรคกลับมาระบาดหนักระลอกที่ 2 ได้อีกนั่นคือเราจะแพ้อย่างราบคาบและจะยากต่อการแก้ไขด้วย

สิ่งสำคัญของ “สมุทรสาครโมเดล” ภายใต้การปฏิบัติ 4 ด้าน คือ สวมหน้ากากผ้า 100 เปอร์เซ็นต์, เฝ้าระวังและค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก, ทำตลาดให้ปลอดโรค ปลอดภัย ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด และสุดท้ายคือ เว้นระยะห่างทางสังคม

สมุทรสาครโมเดลถือเป็นผลสำเร็จในการป้องกันไม่ให้โควิด-19 ไปแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าวจนตัวเลขเป็นศูนย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image