จับตา 7 ข้อเรียกร้องสมาคมโรงแรม ‘เปิดน่านฟ้า -ยกเลิกกักตัว14วัน’
ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 หนักหนาสาหัสที่สุด โดยเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมาสมาคมโรงแรมได้ร่วมหารือกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมมีข้อเรียกร้อง 7 ข้อ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม นางศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า สมาคมโรงแรมได้ร่วมหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อเสนอเพื่อให้รัฐบาลพิจารณาถึงผลกระทบต่อภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่ได้รับความเสียหาย โดยมีข้อเสนอ 7 ด้าน ได้แก่
1.กระตุ้นให้ธุรกิจกลับมาเร็วที่สุด ขอให้รัฐบาลจัดงบประมาณประชุมสัมมนาของภาครัฐ โดยใช้โรงแรมที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมเป็นหลัก และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ให้มีการจัดประชุมสัมมนาและดูงานข้ามจังหวัดได้
2.ขอให้รัฐบาลเข้มงวดกับโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม
3.ขอให้มีมาตรการทางภาษี สนับสนุนการลงทุน เพื่อพัฒนามาตรฐานของโรงแรม ให้โรงแรมสามารถนำค่าใช้จ่ายในการลงทุนไปหักภาษีได้ 3 เท่า
4.ขอเลื่อนการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นปลายปี และขอส่วนลดในช่วงที่มีการปิดกิจการชั่วคราว
5.เรื่องการจ่ายเงินชดเชยการว่างงานของสำนักงานประกันสังคมเป็นมาตรการที่ดีมาก แต่ในทางปฏิบัติยังไม่มีการจ่ายเงินชดเชยการว่างงานจากการที่ผู้ประกอบการปิดกิจการชั่วคราว
6.การเปิดน่านฟ้า เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขอให้ไม่ใช้มาตรการกักตัว 14 วัน แต่ให้มีมาตรการสร้างความเชื่อมั่นในด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยของประเทศไทย อาทิ ให้มีการตรวจหาโควิด-19 ก่อนเดินทางเข้ามายังประเทศไทย
7.ขอให้จัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ สำหรับข้อมูลของโรงแรมในประเทศทั้งหมด
แต่ข้อเรียกร้องหลักๆนั้น นางศุภวรรณ กล่าวว่า ให้ดำเนินการหลังจากคลายล็อกดาวน์แล้วและกลับมาเป็นปกติแล้ว โดยเฉพาะการไม่ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะกลับมาเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย กักตัว 14 วัน เพราะหากโควิด-19จบแล้ว มีความพร้อมในการต้อนรับการกลับมาเดินทางอีกครั้ง การกักตัวก็คงไม่จำเป็น แต่ต้องมีมาตรการที่เข้มขนในการคัดกรองต่างชาติทุกคน มองว่าประเทศไทยน่าจะกลับมาเข้าสู่สถานการณ์ปกติได้ประมาณเดือนสิงหาคมนี้ และไม่น่าจะเกิน เพราะก็ปิดมานานแล้ว สำหรับการกลับมาเริ่มต้นเปิดโรงแรมและให้บริการใหม่อีกครั้ง เบื้องต้นสมาคมได้ทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการสร้างมาตรฐานใหม่ในภาคการท่องเที่ยวคือ ตราสัญลักษณ์ชา (SHA) โดยผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข เพื่อให้ได้ตราสัญลักษณ์มา ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจในการใช้บริการของลูกค้ามากขึ้น