รพ.ขอนแก่น รับบริจาคเครื่องพ่นยาแบบพกพาผลิตจากวัสดุรีไซเคิลด้วยขวดพลาสติก

รพ.ขอนแก่น รับบริจาคเครื่องพ่นยาแบบพกพาผลิตจากวัสดุรีไซเคิลด้วยขวดพลาสติก

 

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่อาคารรักษาผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ รพ.ขอนแก่น นพ.สุรพันธ์ เจริญธัญรักษ์ อายุรแพทย์ระบบทางเดินหายใจ รพ.ขอนแก่น ทำการทดสอบระบบการพ่นยาที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ทดแทนการพ่นยาแบบละอองฝอย สำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเครื่องพ่นยาดังกล่าวผลิตจากขวดน้ำดื่มและแก้วกระดาษที่ผ่านกระบวนการทำความสะอาดและติดตั้งระบบวาล์วควบคุมการพ่นยา ตามมาตรฐานทางการแพทย์ เนื่องจากต้องนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ต้องรับยาด้วยการพ่น เนื่องจากในขณะนี้กระบวนการการักษาผู้ป่วยของโรงพยาบาลทุกแห่ง มีมติในการหลีกเลี่ยงการพ่นยาแบบละอองฝอย ด้วยเครื่องที่ดื่มเคยใช้งานอยู่ในอาคารรักษาผู้ป่วยหรือห้องตรวจผู้ป่วย เพื่อลดการเกิดละอองและการฟุ้งกระจายของสารคัดหลั่งตามแนวทางการรักษา ควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด

นพ.สุรพันธ์ เจริญธัญรักษ์ อายุรแพทย์ระบบทางเดินหายใจ รพ.ขอนแก่น กล่าวว่า ด้วยมาตรการทางการแพทย์ที่ต้องเข้มงวดในการรักษาผู้ป่วยในภาวะของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ รพ.ฯทุกแห่งต้องหลีกเลี่ยงการพ่นยาแบบละอองฝอย ในกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการพ่นยา ซึ่ง รพ.ขอนแก่น มีผู้ป่วยที่ต้องพ่นยาตามการรักษาด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ อยู่ที่ประมาณวันละ 200 ราย ดังนั้นเมื่อระบบเครื่องที่ติดตั้งอยู่ในอาคารรักษาหรือห้องตรวจต้องยุติการรักษาในระยะนี้ ทำให้การพ่นยาให้กับผู้ป่วยก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการมาใช้ในระบบการพ่นยาแบบพากพาแทน แต่ด้วยเครื่องดังกล่าวที่ รพ.ฯ มีอยู่จำกัด จึงได้หารือร่วมกันกับสภาวิชาชีพแพทย์ และตรวจสอบอุปกรณ์การพ่นยาที่สามารถผลิตขึ้นเองได้ จนกลายมาเป็นที่มาของเครื่องพ่นยาแบบพกพาที่ขณะนี้ รพ.ฯหลายแห่ง นั้นนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ในการพ่นยาให้กับผู้ป่วยแล้ว

“เครื่องพ่นยาแบบพกพานั้นขณะนี้ รพ.ฯได้ผลิตขึ้น 2 รูปแบบคือแบบที่มีระบบวาล์วเปิด-ปิด คือการใช้ขวดน้ำดื่ม 600 มิลลิลิตร มาตัดบริเวณก้นขวดออกในระดับความสูงประมาณ 10-15 ซม. เพื่อให้สามารถใส่แก้วกระดาษเข้าไปได้ โดยที่แก้วกระดาษนั้น บริเวณก้นแก้วและด้านข้างของแก้วจะติดตั้งระบบวาล์วที่ทำกระดาษแข็งเพื่อให้เกิดระบบปิดและระบบเปิดขณะพ่นยา โดยยาที่ใช้ในการรักษานั้นก็มีการปรับเปลี่ยนมาในรูปแบบขวดกดแทน ขณะที่เครื่องพ่นยาแบบที่ 2 นั้นคือใช้ในกลุ่มที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ คือเครื่องพ่นแบบต่อตรง ด้วยการนำแก้วพลาสติกที่มีความแข็ง มาเจาะรูตรงกันแก้วเพื่อให้ใส่ท่อกดของตัวยาได้ ขณะที่บริเวณปากแก้วก็มีการตกแต่งให้พอเหมาะกับใบหน้าหรือไม่ต้องตกแต่งก็ได้ ซึ่งระบบดังกล่าวนี้เป็นการพ่นตรงให้กับผู้ป่วยแบบไม่ต้องผ่านระบบวาล์ว”

Advertisement

นพ.สุรพันธ์ กล่าวต่ออีกว่า ขวดน้ำที่นำมาใช้ขอให้ทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อและนำไปตากแดดก่อนที่จะมาผลิต ขณะที่แก้วกระดาษขอเป็นแก้วใหม่เท่านั้น ขณะที่แก้วกาแฟหรือแก้วเครื่องดื่มที่จะนำมาผลิตนั้นก็จอให้มีการทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อและนำไปตากแดดเช่นกันเพื่อความปลอดภัย ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวนี้นั้น รพ.ฯ ยังคงต้องการใช้ในการรักษาผู้ป่วยอีกเป็นจำนวนมาก จึงขอให้ผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมกันผลิตจากวัสดุรีไซเคิลสำหรับการนำมารักษาผู้ป่วยในระยะนี้เพราะอุปกรณ์ 1 ชิ้นนั้นจะมอบให้กับผู้ป่วย 1 ราย เพื่อเป็นอุปกรณ์ในการรักษาประจำตัวทดแทนการให้ยาแบบการพ่นละอองฝอย ซึ่งขณะนี้ขั้นตอนการผลิตได้มีการเผยแพร่ในโลกโซเชียนมีเดียเพื่อให้การผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวนั้นถูกต้อง อย่างไรก็ตามยังคงมีอุปกรณ์อีก 1 ชิ้นที่ รพ.ฯต้องการ คือ เครื่องควบคุมระบบการพ่นยา หรือ MDI Adapter ที่ผลิตจากพลาสติกในการที่จะใช้ต่อกับเครื่องช่วยหายใจ ที่ รพ.ฯ ยังคงต้องการเป็นจำนวนมากเช่นกัน

 

 

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image