สถานีคิดเลขที่ 12 : วิวาทะเรื่อง ‘โควิด’

ดูเหมือนในสังคมไทยยุคปัจจุบัน จะมีบทสนทนาหลักๆ ว่าด้วย “โควิด-19” อยู่ 2-3 รูปแบบ

รูปแบบแรก คือ การอัพเดตสถานการณ์ล่าสุด เช่น จำนวนผู้เสียชีวิต-ผู้ติดเชื้อ ทั้งในประเทศและระดับโลก

บทสนทนาประเภทนี้เริ่มจางหายลงไป ตามสถิติผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาฯ ในประเทศไทยที่ลดลง, การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ รวมถึงการมีเสียงเรียกร้องให้วิถีชีวิตปกติหลายๆ ด้าน หวนคืนกลับมา

รูปแบบที่สอง คือ การพยายามมองโลกในมุมบวก การแสดงความเห็นว่า “โควิด-19” ได้ก่อให้เรื่องดีๆ ขึ้นไม่น้อย เช่น ทำให้ธรรมชาติมีโอกาสฟื้นฟูตัวเอง ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกครอบครัวแน่นแฟ้นขึ้น ทำให้มนุษย์มีเวลาให้ตัวเองและคนที่เรารักมากขึ้น

Advertisement

หรืออาจกล่าวรวมๆ ได้ว่า เรายังสามารถมีความรื่นรมย์ในชีวิต ท่ามกลางสภาวะอันไม่ปกติสุข

รูปแบบที่สาม คือ การยืนกรานว่าวิกฤตโรคระบาดคราวนี้แยกไม่ขาดออกจากปัญหาความไม่เท่าเทียม-ไม่เป็นธรรมในทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความอัปลักษณ์พิกลพิการในเชิงโครงสร้างอำนาจ

ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือบทสนทนาสองแบบหลังนั้นมีแนวโน้มจะปะทะชน และแปรสภาพกลายเป็น “วิวาทะ” ได้บ่อยๆ

Advertisement

แนวคิด/บทสนทนาแบบที่สองอาจไม่นำไปสู่ปัญหา ถ้าเป็นการพูดจาสื่อสารส่วนตัว-เฉพาะกลุ่ม มิได้สื่อสารกับสาธารณะ (กระทั่งผู้ที่สมาทานแนวคิดแบบที่สาม ก็คงต้องพยายามแสวงหาความรื่นรมย์ในชีวิตอยู่ด้วยเช่นกัน มิเช่นนั้นคงเครียดหนัก)

อย่างไรก็ดี ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เส้นแบ่งระหว่างพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะนั้นพร่าเลือนลงไปมาก จนยากจะนิยามและแบ่งแยกให้ชัดเจน

ดังนั้น ขอเพียงคุณมีสถานะเป็น “บุคคลสาธารณะ” ต่อให้จะสื่อสารเรื่องส่วนตัวกับคนใกล้ชิดวงเล็กแค่ไหน บทสนทนาดังกล่าวก็อาจถูกแปรเป็นข้อความสาธารณะที่สร้างผลกระทบใหญ่โตเกินคาดคิดได้เสมอ

เมื่อบทสนทนาที่ถูกสร้างขึ้นอาจกลายเป็นข้อความสาธารณะได้ตลอดเวลา อีกทั้งยังไม่ใช่สัจธรรมสูงสุด ข้อโต้แย้ง คำวิพากษ์วิจารณ์ ปฏิกิริยาสะท้อนกลับ จึงย่อมบังเกิดขึ้นตามมาเป็นปกติ

ไม่นับรวมว่าคลังข้อมูลมหาศาลในโลกออนไลน์นั้นมีความสามารถในเก็บรวบรวมความคิด-จุดยืนของ “บุคคลสาธารณะ” ต่างๆ

“ประวัติ” ที่ผ่านๆ มา จึงเป็นเครื่องมือชี้เป้าให้ “บุคคลเสียงดัง” บางราย ถูกจับจ้องมากเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถาม-ปริศนาน่าคิดมากมาย เกี่ยวกับเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์หรือการสร้างบทสนทนาในสังคมยุค “โควิด” และ “หลังโควิด” (ที่จะก่อให้เกิด “new normal”)

เช่น มนุษย์คนหนึ่ง/กลุ่มหนึ่ง ยังสามารถมีความรื่นรมย์กับชีวิตและแสดงมันออกมาอย่างเปิดเผยได้หรือไม่? ท่ามกลางสถานการณ์เดือดร้อนยากลำบากของสังคม

อะไรคือ เส้นแบ่งว่าการแสดงความรื่นรมย์ในลักษณะนี้เป็นเรื่องยอมรับได้? การแสดงความรื่นรมย์แบบนั้นเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้?

และการมีความสุขในชีวิตของปัจเจกบุคคลรายหนึ่ง จำเป็นต้องผูกติดยึดโยงอยู่กับความทุกข์ของเพื่อนร่วมสังคมรายอื่นๆ ตลอดเวลาหรือไม่?

ขณะเดียวกัน ปฏิกิริยารุนแรงโกรธขึ้งที่โต้กลับการมองโลกมุมบวกในสถานการณ์ “โควิด-19” ก็อาจบ่งบอกถึง “ความเป็นจริงทางสังคม” อย่างน้อยสองประการ

ประการแรก เรื่องนี้บ่งชี้ว่าความตึงเครียดที่แฝงเร้นอยู่ในสังคมไทยมีปริมาณมหาศาล และรอวันระเบิดปะทุ เมื่อวิกฤตหรือความขัดแย้งต่างๆ ผุดเผยขึ้นมา

ประการที่สอง โรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ กำลังนำพาคนจำนวนมากในสังคมไปเผชิญหน้ากับ “ยุคเข็ญ”

ที่ไม่อาจเยียวยาได้ด้วย “รอยยิ้ม” หรือ “อารมณ์ขัน” ใดๆ

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image