เดินหน้าผลักดัน ‘กลุ่มป่าแก่งกระจาน’เป็นมรดกโลก

เดินหน้าผลักดัน
‘กลุ่มป่าแก่งกระจาน’เป็นมรดกโลก

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความพยายามในการนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยนำเสนอเอกสารนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกฉบับสมบูรณ์ต่อคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อพิจารณาครั้งเรกในปี 2558

แต่ด้วยข้อติดขัดในประเด็นต่างๆ จึงยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

จนกระทั่งในปี 2562 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 43 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน-10 กรกฎาคม 2562 คณะกรรมการมรดกโลกได้พิจารณาการนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกและมีมติให้ส่งกลับเอกสาร (Refers) เพื่อเพิ่มเติมข้อมูลใน 3 ประเด็นคือ 1.ปรับปรุงแนวขอบเขตการเสนอแหล่งโดยอยู่บนพื้นฐานความตกลงระหว่างไทยและเมียนมา 2.ให้นำเสนอข้อมูลและการศึกษาเปรียบเทียบที่แสดงให้เห็นว่าการลดขอบเขตพื้นที่ยังคงคุณค่าภายใต้หลักเกณฑ์ข้อที่ 10 เรื่องความสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ในการขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ 3.แสดงให้เห็นว่าข้อกังวลทั้งหมดได้รับการแก้ไขโดยการปรึกษาอย่างเต็มที่กับชุมชนท้องถิ่น

เพื่อเป็นการผลักดันการนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จึงได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกขึ้น โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธาน และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และกรมอุทยานเห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นเลขานุการร่วม โดยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงการต่างประเทศในการดำเนินการจัดทำเอกสารข้อมูลเพิ่มเติมและประสานการดำเนินการเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมครั้งที่ 44 ต่อไป

Advertisement

พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นผืนป่าที่มีขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ราชบุรี เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี รวมพื้นที่ประมาณ 2,914.70 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,821,687.84 ไร่ เป็นกลุ่มป่าที่สำคัญของระบบนิเวศทั้งระบบนิเวศบก แหล่งน้ำ และเป็นแหล่งพันธุกรรมของพืชและสัตว์ป่าที่สำคัญแห่งภูมิภาคเอเชีย ด้วยเหตุนี้ราชอาณาจักรไทยจึงนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ภายใต้เกณฑ์ข้อ 10 ซึ่งระบุไว้ในเอกสารแนวทางการอนุวัตตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (Operational Guidelines for the Implementation of the World Heritage Convention) ด้วยเหตุผลที่ว่า กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นถิ่นที่อาศัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการอนุรักษ์ในถิ่นของความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงพบชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่มีคุณค่ายิ่งด้านการอนุรักษ์และวิทยาศาสตร์

โดยพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ในปี 2554
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของไทย และยังเป็นพื้นที่ที่สามารถพบสัตว์ป่าหายากหลายชนิด ทั้งสัตว์ผู้ล่าสำคัญอย่างสัตว์ในตระกูลแมวป่า เช่น เสือโคร่ง เสือดาว/เสือดำ เสือลายเมฆ เสือไฟ เสือกระต่าย แมวลายหินอ่อน แมวดาว และเสือปลา นอกจากนี้ยังมีสัตว์ป่าอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย สมเสร็จ เก้งหม้อ ช้างป่า กระทิง กวางป่า หมีควาย หมีหมา หมาใน หมาจิ้งจอก ชะมดแปลงลายแถบ และยังมีนกกับแมลงที่สำคัญของผืนป่าแก่งกระจานคือ นกกะลิงเขียดหางหนาม นกพญาปากกว้างที่ในประเทศไทยมีทั้งหมด 6 ชนิด โดยสามารถพบได้ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานทั้งหมด 6 ชนิด, ตระกูลนกเงือกที่พบในประเทศไทยพบ 13 ชนิด ซึ่งสามารถพบได้ที่ป่าแก่งกระจาน 6 ชนิดคือ นกกก/นกกาฮัง นกเงือกสีน้ำตาล นกแก๊ก นกเงือกหัวหงอก นกเงือกรามช้างปากเรียบ นกเงือกกรามช้าง และผีเสื้อที่อยู่ในรายชื่อแมลงคุ้มครองภายใต้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 คือผีเสื้อหางติ่งสะพายเขียว และผีเสื้อรักแร้ขาว

Advertisement

ทั้งนี้ ด้วยป่าแก่งกระจานมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งในแง่ของพื้นที่ป่าไม้ สัตว์ผู้ล่า และเหยื่อของสัตว์ในตระกูลแมวป่าขนาดใหญ่ แก่งกระจานจึงเป็นพื้นที่ในอันดับต้นๆ ที่มีศักยภาพในการฟื้นฟูประชากรของสัตว์ป่าที่สำคัญของไทย การสำรวจและติดตามประชากรสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อย่างเป็นระบบช่วยให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีข้อมูลพื้นฐานที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือและเป็นประโยชน์ต่อการจัดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ จากการศึกษาของกรมอุทยานแห่งชาติเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ภายหลังการปรับลดขนาดพื้นที่นำเสนอบนพื้นฐานข้อหารือระหว่างไทยและเมียนมา พบว่า ยังคงมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่สำคัญอยู่ ซึ่งแสดงถึงความสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างชัดเจน

ส่วนข้อกังวลเรื่องการทำความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเสนอมรดกโลกและการขอสนับสนุนการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกกับชุมชนที่อยู่ในเขตและนอกเขตอุทยานแห่งชาติ โดยการเข้าร่วมประชุมหมู่บ้านและชี้แจงทำความเข้าใจมาโดยตลอดตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน

ในส่วนของงานสำรวจการครอบครองที่ดินในป่าอนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานตามแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ตามมาตรา 64 ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติในแต่ละแห่งให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้บังคับใช้

เมื่อพ้นระยะเวลาหนึ่งและรัฐบาลมีแผนงานหรือนโยบายในการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินในอุทยานแห่งชาติที่มีการประกาศกำหนดมาก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้บังคับใช้ ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ โดยมิได้สิทธิในที่ดินนั้น เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

ปัญหาชุมชนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติปัจจุบัน โดยเฉพาะชนชาติกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บ้านบางกลอย ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตจากหน่วยราชการต่างๆ จนทำให้เกิดรายได้ของชุมชนจากการค้าสินค้าเกษตร จัดการท่องเที่ยวและบริการได้มากขึ้น การก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สุขศาลาพระราชทาน ระบบน้ำโซลาร์เซลล์ที่สามารถปั๊มน้ำได้ตลอดเวลา ทำให้หมู่บ้านได้รับการพัฒนามากขึ้น คนที่อยู่ได้รับการจัดสรรที่ดินที่ทำกินตามพระราชบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ.2562 คนที่ไม่มีที่ดินทำกินสามารถปรับไปมีอาชีพ รายได้จากการท่องเที่ยวและบริการ การเป็นลูกจ้างของรัฐทำให้เกิดรายได้มีความมั่นคง เช่น รายได้ในช่วงปี พ.ศ.2555 ของชุมชนทั้งสองมีประมาณ 75,000 บาทต่อปี ปัจจุบันในปี พ.ศ.2562 มีตัวเลขที่เกิดจากรายได้ภาคการเกษตร ภาคบริการ และรับจ้างกว่า 15 ล้านบาท

ชุมชนส่วนใหญ่ได้รับการจัดการที่ดินจะเป็นครอบครัวขยายหรือครอบครัวที่อพยพมาอาศัยอยู่กับญาติตั้งแต่ช่วงแรก กลุ่มคนเหล่านี้จะได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อด้วยการใช้พื้นที่ทำกินที่มีอยู่ในพื้นที่เกษตรผักผลไม้ที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงขึ้นให้เป็นรายได้ของชุมชน ที่ดินที่ได้รับการตรวจสอบจัดการตามกฎหมายสามารถตกทอดถึงลูกหลานได้แต่ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ทางที่ดิน มีความมั่นคงมากขึ้นนับตั้งแต่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วมมาตลอด โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย เพื่อให้สังคมได้รับรู้ถึงประเพณีที่กลมกลืนและอยู่ได้ร่วมกับธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความภาคภูมิใจของชุมชน ได้รับการยอมรับจากบุคคลที่อยู่ภายนอกมากขึ้น

ข้อมูลดังกล่าวนี้จะถูกนำส่งให้คณะกรรมการมรดกโลกรับทราบ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาอีกครั้งในปี 2564

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image