นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนประจำเดือนพฤษภาคม2563 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น 42% มาอยู่ที่ระดับ 80.40 อยู่ในเกณฑ์ทรงตัว จากระดับ 56.70 จากการสำรวจในเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังจากปรับตัวลงอยู่ในเกณฑ์ซบเซาติดต่อกัน 3 เดือน โดยผลสำรวจพบว่านักลงทุนคาดหวังนโยบายภาครัฐเป็นปัจจัยสนับสนุนมากที่สุด รองลงมาคือ การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว รวมถึงการค้นพบวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ขณะที่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย เป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือ การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ และการไหลเข้าและออกของเงินทุน รวมถึงความกังวลหากโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดรอบ 2
นายไพบูลย์กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเพิ่มขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว ยกเว้นกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศที่ยังอยู่ในเกณฑ์ซบเซา โดยในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม โดยได้แรงสนับสนุนจากปัจจัยในประเทศที่ภาครัฐออกมาตรการเยียวยา อาทิ การออกพ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท มาตรการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 9 แสนล้านที่ออกมาช่วยผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) และออกโครงการกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (บีเอสเอฟ) เพื่อประคองตลาดตราสารหนี้ โดยช่วงครึ่งเดือนแรกดัชนีเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1,100 – 1250 จุด จากนั้นดัชนีปรับตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้น หลังจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีความชัดเจนจากมาตรการต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดย ณ สิ้นเดือนเมษายน 2563 ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ระดับ 1,301.66 จุด
“ตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น ดัชนียังมีโอกาสเคลื่อนไหวแกว่งตัว แต่แนวโน้มที่ดัชนีจะปรับระดับลงอย่างรุนแรงมีอย่างจำกัด โดยอาจเห็นดัชนีลดลงเพราะมีแรงขายทำกำไรออกมาบ้าง เนื่องจากดัชนีปรับตัวขึ้นมาถึง 30% จากระดับต่ำสุดในปีนี้ที่ระดับ 969 จุด ซึ่งประเมินว่ามีโอกาสที่จะเห็นดัชนีหุ้นไทยแตะระดับสูงสุดที่ 1,400 จุดได้ แต่ขึ้นอยู่กับมาตรการดูแลโควิด-19 ภายในประเทศไม่ให้เกิดการระบาดในรอบ 2 จนต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการดูแลบริษัทขนาดกลางและเล็กที่ประสบภาวะล้มละลาย เพื่อไม่ให้มีน้ำหนักกดดันให้เศรษฐกิจปรับตัวลงลึกมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยเบื้องต้นประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะติดลบ 6-7% ในขณะที่เฟทโก้ได้เตรียมที่จะหารือร่วมกับบรอษัทจดทะเบียน เพื่อทำสรุปเป็นมาตรการเสนอต่อรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ โดยจะเสนอให้มีการกระตุ้นให้คนที่มีกำลังซื้อที่ไม่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ออกมาจับจ่ายใช้สอย และท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น ซึ่งภาครัฐจะต้องสร้างแรงจูงใจในการใช้จ่ายเหล่านั้น ในรูปแบบเหมือนที่เคยทำมาในอดีตอาทิ มาตรการช้อปช่วยชาติ โดยอาจฟื้นช้อปช่วยชาติ กระตุ้นไทยเที่ยวไทยออกมาเพิ่มเติม ซึ่งเบื้องต้นมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมา ต้องมีขนาดใหญ่ ไม่ต่างจากมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ในระยะถัดไป” นายไพบูลย์กล่าว
นายไพบูลย์กล่าวว่า สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนเชื้อไวรัสโควิด-19 การระบาดรอบ 2 หลังหลายประเทศเริ่มทยอยผ่อนคลายล็อกดาวน์ ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก รวมถึงความกังวลเรื่องสงครามการค้า (เทรดวอร์) ระหว่างสหรัฐและจีน ส่วนปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามคือ การประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1/2563 การออกมาตรการฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับผลกระทบของโควิด-19 โดยเฉพาะในกลุ่มการท่องเที่ยว และภาคการเกษตร รวมถึงการแก้ปัญหาตลาดแรงงานทั้งลูกจ้างชั่วคราว ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และลูกจ้างเอสเอ็มอีด้วย