‘ตลท.’ รับตลาดหุ้นไทยยังไม่ปกติ แม้ดูดีขึ้นมากแล้ว อวดดัชนี เม.ย. ขึ้นกว่า 15.6% สูงเป็นที่ 2 ในเอเชีย

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในขณะนี้ ยังไม่สามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ หากตลาดหุ้นทั่วโลกยังไม่สามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติเช่นกัน อาทิ ตลาดหุ้นสหรัฐปรับขึ้น 2-3% และปรับลดลง 2-3% ในวันถัดมา ไม่แตกต่างจากตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชีย ช่วงนี้จึงต้องติดตามเหตุการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการทำงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย และดัชนีหุ้นไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งประเมินว่าภาพรวมตลาดคงยังไม่กลับมาเป็นปกติได้ แต่เหตุการณ์ในขณะนี้ลดความรุนแรงไปมากแล้ว โดยหากประเทศไทยไม่มีการกลับมาแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอก 2 จะถือเป็นบทสรุปที่ดีมากของไทย โดยล่าสุดการที่รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เฟสแรกไป ระยะถัดไปคือการผ่อนคลายในเฟส 2 เพื่อให้ภาคธุรกิจกลับมาเริ่มต้นกิจการได้ใหม่อีกครั้งความสำคัญของโจทย์นี้คือ การเปิดกิจการแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดรอบ 2 ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง เพราะหากเกิดการระบาดใหม่อีกรอบ ไทยจะกลับเข้าสู่การล็อกดาวน์และภาพเดิมแบบช่วงที่ผ่านมา

“บริษัทจดทะเบียนบางรายที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนต้องเลื่อนการจ่ายเงินปันผล และมีปัญหาในเรื่องการจ่ายคืนหุ้นกู้ ต้องยอมรับว่าในภาวะที่เกิดวิกฤตแบบนี้ขึ้น บริษัทจดทะเบียนบางแห่งอาจมีสภาพคล่องไม่ดีมากนักเพราะธุรกิจที่เคยคาดว่าจะทำกำไรได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้บางบริษัทอาจยกเลิกหรือเลื่อนการจ่ายเงินปันผลเพื่อเก็บเงินดังกล่าวไว้เป็นสภาพคล่องในอนาคต ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการบริหารของแต่ละบริษัท ส่วนบริษัทที่มีปัญหาเรื่องการจ่ายเงินต้นหรือดอกเบี้ยหุ้นกู้ ตลท.ได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(...) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยได้จัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (บีเอสเอฟ) ขึ้นมา เพื่อช่วยในด้านสภาพคล่องของบริษัทจดทะเบียร รวมถึงมีการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและลดค่าธรรมเนียมต่างๆ เพื่อช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้วนายภากรกล่าว

นายภากรกล่าวว่า ในเดือนมีตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนอย่างรุนแรง ตลท.จึงประกาศปรับเกณฑ์การซื้อขายเพื่อดูแลความผันผวนของตลาดหุ้นไทย ได้แก่ การปรับเกณฑ์พักการซื้อขายชั่วคราว (เซอร์กิตเบรกเกอร์) เกณฑ์การเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นเพิ่มขึ้นสูงสุด หรือลดลงต่ำสุด และเกณฑ์การขายชอร์ต โดย 2 เกณฑ์หลังจะมีผลถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ทำให้ต้องมีการพิจารณาว่าจะมีการต่ออายุมาตรการดูแลตลาดหุ้นไทยเพิ่มเติมหรือไม่ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะพิจารณาและมีความชัดเจนออกมาก่อนวันที่ 30 มิถุนายนนี้แน่นอน โดยหลังได้ข้อสรุปแล้ว ตลท.จะเปิดรับฟังความเห็น (เฮียริ่ง) รายละเอียดในกลุ่มของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดหุ้น รวมถึงหารือเกี่ยวกับโอกาสที่จะใช้มาตรการดังกล่าวแบบการถาวรต่อไป โดยในไตรมาส 1/2563 พบว่า มีนักลงทุนบุคคลทั่วไปเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นสูงถึง59,000 บัญชี เพราะนักลงทุนมองว่าการลงทุนในตลาดหุ้นเหมาะสม เพราะต้นทุนปรับลงมา 30-40 % เป็นต้นทุนที่ดีและบางภาคธุรกิจฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว ราคาหุ้นมีการดีดตัว (รีบาวน์) ขึ้นมาถึงระดับก่อนเกิดโควิด-19 และความผันผวนก็ลดลงมาก ขณะที่ความสามารถในการทำกำไรยังดีอยู่ เป็นจุดที่นักลงทุนจะได้ประโยชน์จากการลงทุนระยะยาว ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการระดมทุนเป็นครั้งแรกในตลาดหลักทรัพย์ (ไอพีโอ) ของบริษัทจดทะเบียนกลับมาดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ เพิ่มเติมแล้ว โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นการกลับเข้ามาระดมทุนไอพีโอปกติอีกครั้งในไตรมาส 3 นี้

นายภากรกล่าวว่า ในส่วนของประเด็นการใช้โปรแกรมเทรดดิ้งที่ตลท. มีความกังวลว่าจะส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยเกิดความผันผวนนั้น ล่าสุด ได้เปิดให้นักลงทุนทุกกลุ่มสามารถใช้โปรแกรมเทรดดิ้งในการซื้อขายหลักทรัพย์ได้ จากเดิมอนุญาตให้ใช้เพียงกลุ่มนักลงทุนสถาบันเท่านั้น เพื่อให้นักลงทุนรายย่อยสามารถซื้อขายหลักทรัพย์ได้สะดวกและง่ายขึ้น ซึ่งหวังว่าการปรับเกณฑ์ดังกล่าวจะช่วยให้นักลงทุนทุกประเภทเข้าถึงตลาดหุ้นได้อย่างเท่าเทียมมากที่สุด โดยปัจจุบันตลท. ได้ส่งเสริมให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หันมาให้บริการโปรแกรมเทรดดิ้งมากขึ้นอีก โดยภาพรวมการซื้อขายจากโปรแกรมเทรดดิ้งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาอยู่ที่ประมาณ 15-20% ของปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมด

Advertisement

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในเดือนเมษายน 2563 ตลาดหลักทรัพย์ไทยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของตลาดโลก โดยในเดือนเมษายน ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ระดับ 1,301.66 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 15.6% จากสิ้นเดือนมีนาคมซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย โดยกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มทรัพยากร กลุ่มบริการ และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ปรับเพิ่มขึ้นได้มากกว่าภาพรวมของตลาด นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยกว่า 46,782 ล้านบาท ส่วนมูลค่าก่รซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมในเดือนเมษายน2563 อยู่ที่ 68,093 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จากค่าเฉลี่ยทั้งปี 2562 อัตราเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 4.0% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชีย ซึ่งอยู่ที่ 3.3% มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม อยู่ที่ 14.2 ล้านล้านบาท ลดลง16.4% จากสิ้นปี 2562 โดยใน 4 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าการระดมทุนครั้งแรก (ไอพีโอ) ของไทยอยู่ที่ระดับ56,127 ล้านบาท ในขณะที่การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน (เอสพีโอ) มีมูลค่ารวมที่ 11,666 ล้านบาท สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะต่อไป นอกจากประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาดแล้ว ผู้ลงทุนควรให้ความสำคัญกับการปรับตัวของประชาชน และผู้ประกอบการในประเทศ เพื่อป้องกันการระบาดรอบใหม่ และการเดินหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในและระหว่างประเทศในระยะต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image