โคราชปลูกกัญชาพันธุ์”ฝอยทองภูผายล”รุ่นแรก

มทส.โคราช ปลูกต้นกล้ากัญชาพันธุ์ฝอยทองภูผายลรุ่นแรก เดินหน้าวิจัยเชิงคุณภาพ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

วันที่ 13 พฤษภาคม ที่สวนเกษตรเฉลิมพระเกียรติ เฉลิมบรมราชกุมารี สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จ.นครราชสีมา นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมนายแพทย์สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ,รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. และรศ.ดร.อนันต์ ทองระอา รองอฺธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยีฯ ร่วมทำพิธี “ปลูกต้นกล้ากัญชา เพื่อการวิจัยการผลิตกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ”ภายในโรงเรือนระบบปิดตามมาตรฐานสากล เพื่อผลิตวัตถุดิบกัญชา การตรวจสอบคุณภาพ การใช้พื้นที่แปรรูป เพื่อใช้ผลิตยาสมุนไพรไทย 9 ตำรับเชิงพาณิชย์เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้มีการมอบใบอนุญาตในการปลูกและครอบครองกัญชา ให้แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ ฯ อธิการบดี มทส. เปิดเผยว่า จากการที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทย ขับเคลื่อนและเตรียมความพร้อมการผลิตกัญชาแพทย์แผนไทย ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อปลูกวัตถุดิบกัญชา การตรวจสอบคุณภาพ การใช้พื้นที่แปรรูป การวิจัยยาสมุนไพรที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพดีสำหรับทำยาสมุนไพรคุณภาพและถูกต้องตามมาตรฐานสากล โครงการวิจัย “การผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์” โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นันทกร บุญเกิด เป็นนักวิจัยหลัก ได้มีการวางแผนการผลิต แผนการจำหน่าย และแผนการใช้ประโยชน์ เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามลำดับ กระทั่ง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกใบอนุญาตการปลูกและครอบครองเมล็ดพันธุ์กัญชา ให้แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นที่เรียบร้อย

นับจากนี้ มทส. ต้องเดินหน้าตามแผนงานอย่างเต็มกำลัง หลังจากเตรียมการปรับพื้นที่พื้นที่สวนเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา บรมราชกุมารี ขนาด 15 ไร่ จัดสร้างโรงเพาะชำต้นกล้า จำนวน 1 โรง โรงเรือนเพื่อการปลูก ขนาด 5 x 100 เมตร จำนวน 2 โรง เป็นโรงเรือนระบบปิดวางระบบน้ำหยด พร้อมระบบระบายอากาศ เพื่อการเพาะกล้า การเตรียมดิน การปลูก การเก็บผลผลิตกัญชา และการจัดทำรายงานผล ซึ่งจะดำเนินการอย่างรัดกุมภายใต้ข้อกำหนดที่ระบุปลูกได้จำนวน 3,360 ต้นต่อหนึ่งรอบการผลิต “เมล็ดพันธุ์กัญชาฝอยทองภูผายล” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร เมื่อต้นกล้ามีความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร จะทำการคัดเลือกต้นที่สมบูรณ์ไปปลูกภายในโรงเรือน ทั้ง 2 โรง แบ่งเป็นปลูกในกระถาง 1,500 กระถาง และปลูกแบบลงดิน 1,860 ต้น รวมจำนวน 3,360 ต้นต่อรอบการผลิต สำหรับผลผลิตกัญชาสด จำนวน 2,000 กิโลกรัม จะทำการเก็บเกี่ยวรอบแรกประมาณเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม รอบที่สอง เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน

ทุกขั้นตอนต้องใช้ความทักษะและประสบการณ์อย่างสูง ทั้งนี้ วัตถุดิบทางการผลิตที่เหลือจะถูกเผาทำลายโดยโรงเผาขยะชีวมวล มทส. ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการตรวจสอบฯ อย่างใกล้ชิด และก่อนเก็บเกี่ยวจะต้องประสานให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 นครราชสีมา ในวิเคราะห์สารตกค้าง 5 ส่วน คือ ราก ลำต้น ใบ ดอก และเมล็ด เพื่อให้ได้วัตถุดิบคุณภาพถูกต้องตามมาตรฐาน ก่อนส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ โรงพยาบาลเครือข่ายกรมการแพทย์แผนไทย เป็นผู้ผลิตยาสมุนไพรแผนไทย จำนวน 9 ตำรับ คือ ตำรับศุขไสยาศน์ ตำรับทำลายพระสุเมรุ ตำรับยาทาริดสีดวงทวารและโรคผิวหนัง ตำรับยาแก้ลมแก้เส้น ตำรับยาแก้ลมขึ้นเบื้องสูง ตำรับยาแก้ลมเนาวนารีวาโยตำรับยาไพสาลี ตำรับยาอไภยสาลี และตำรับยาแก้นอนไม่หลับ/ยาแก้ไขผอมเหลือง เป็นไปตามแผนการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ พัฒนาต่อยอดยาสมุนไพรไทยสู่เชิงพาณิชย์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน”

Advertisement

ด้านนายจรัสชัย ฯ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ตามนโยบายรัฐบาล ในการสนับสนุนการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยากัญชาทางการแพทย์ได้อย่างปลอดภัย ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีการอนุญาตให้ใช้ “กัญชาเสรีเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์” อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ภายหลังจากมีการประกาศให้ใช้บังคับพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 มาตรา 26/2 ซึ่งเป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่มุ่งเน้นประโยชน์ในทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชาทุกรายมีสิทธิในการเข้าถึงกัญชาเพื่อการรักษาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง และการเข้าถึงกัญชาต้องไม่เป็นการจำกัดรูปแบบเฉพาะผลิตภัณฑ์กัญชาเกรดทางการแพทย์เท่านั้น แต่ผู้ป่วยต้องมีเสรีภาพในการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทุกรูปแบบ ทั้งรูปแบบยาแผนปัจจุบัน ตำรับยาตามตำรายาแผนไทย ตำรับ Special Access Scheme (SAS) สำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย และตำรับยาจากองค์ความรู้และภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน

ดังนั้น การจัดพิธีปลูกต้นกล้ากัญชา เพื่อการวิจัยการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในครั้งนี้ จึงถือเป็นการขับเคลื่อนและกระตุ้นสังคมให้เล็งเห็นความสำคัญของการวิจัยและพัฒนากัญชาในประเด็นที่เกี่ยวข้องทางการแพทย์ เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาวต่อไป

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image