เอสเอ็มอีร้อง’บิ๊กตู่’ช่วยด่วน3ด้าน วอนห้ามเลือดเยียวยาแรงงาน

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยยื่นข้อเสนอ’บิ๊กตู่’หวังช่วยด่วน3ด้าน วอนห้ามเลือดช่วยเยียวยาแรงงาน

น.ส.โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตรวจเยี่ยมสมาพันธ์ฯเพื่อหารือประเด็นข้อเสนอเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 ว่า เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์ ได้เข้าหารือกับสมาพันธ์เพื่อถามประเด็นความเดือดร้อน โดยก่อนการหารือได้มีการตั้ง 3 คำถามกับเอสเอ็มอี ประกอบด้วย อะไรคือมาตรการเร่งด่วนที่สุดที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ มาตรการ 3 เรื่องที่เอสเอ็มอีต้องการ และจากมาตรการที่ช่วยเหลือของรัฐมีมาตรการใดที่ตอบโจทย์และมาตรการใดที่ควรปรับปรุง ซึ่งครั้งนี้สมาพันธ์ฯได้ส่งเอกสารคำตอบให้กับนายกรัฐมนตรีแล้ว

น.ส.โชนรังสี กล่าวว่า สำหรับคำตอบของสมาพันธ์ฯซึ่งถือเป็นข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ มีรายละเอียดแบ่งเป็น 3 ด้านสำคัญ คือ 1.ประเด็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องการให้รัฐช่วย หรือห้ามเลือด คือ แรงงาน อยากให้แรงงานในระบบของเอสเอ็มอีได้รับการเยียวยาเช่นกัน อาจจ่าย 5,000 บาทแค่ 2 เดือนก็ได้ เพราะเอสเอ็มอีเองก็ไม่อยากปลดคนงาน แต่ต้นทุนส่วนนี้เป็นภาระสำคัญท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังเดือดร้อนอย่างหนัก อีกเรื่องสินเชื่อแม้จะมีซอฟโลนด์ออกมาแต่ยังมีอุปสรรคเอสเอ็มอีโดยเฉพาะกลุ่มไมโครเข้าถึงลำบาก หากเป็นไปได้อยากให้ตั้งกองทุนฯขึ้นมาดูแลอาจเป็นสำนักงานถาวรในอนาคต รูปแบบคล้ายกับกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐก็ได้ แต่กองทุนประชารัฐก็มีบางเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคก็ขอให้ขจัดส่วนนี้ไป และอยากให้รัฐพิจารณาด้านมาตรการภาษีเพิ่มเติม อาจเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีโรงเรือน

น.ส.โชนรังสี กล่าวว่า 2.ด้านการตลาด อยากให้ภาครัฐสนับสนุนเอสเอ็มอีให้เข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ อาจกำหนดสัดส่วน30% แม้จะยุ่งยากแต่จะเป็นช่องทางสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้แน่นอน ต่อมาคือตลาดในประเทศ อาจให้มีแพลตฟอร์มกลางสำหรับสินค้าไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอี เพราะปัจจุบันหน่วยงานรัฐทำแล้วแต่ยังเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ และตลาดชุมชน อาทิ ถนนคนเดิน อยากให้ฟื้นและยกระดับมาตรฐาน รวมทั้งตลาดต่างประเทศ อยากให้ทูตพาณิชย์เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนสินค้าของเอสเอ็มอี เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ร่วมงานเปิดตลาด

น.ส.โชนรังสี กล่าวว่า และ3.อยากให้ภาครัฐสนับสนุนเอสเอ็มอี ไมโครเอสเอ็มอี ในการยกระดับศักยภาพแรงงาน ศักยภาพการผลิต การบริการ หากเป็นผู้ประกอบการรายเดิมอาจมีทีมให้คำแนะนำ เพื่อยกระดับการผลิตการบริการ สนับสนุนให้ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำ ภาครัฐอาจสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ด้านดิจิทัลในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด เพราะเครื่องด้านไอทีมีราคาสูง ขณะเดียวกันต้องการให้สนับสนุนแรงงานจบใหม่ สร้างอาชีพให้กับนักศึกษาที่ต้องการมีกิจการของตัวเอง สนับสนุนเงินทุน เพื่อให้มีโอกาสในการเติบโต เพราะกลุ่มนี้จะมีโอกาสในการเติบโต

Advertisement

“จากการหารือ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าจะรับข้อเสนอของสมาพันธ์ฯไปพิจารณา โดยสัปดาห์หน้าสมาพันธ์ฯจะสรุปมาตรการทั้งหมด จำนวนแรงงานในระบบ เสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ต่อไป”น.ส.โชนรังสีกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image