นักกฎหมายชี้ออกกฎกระทรวงแรงงาน “เหตุสุดวิสัย” เปิดช่อง “นายจ้าง” ผลักภาระให้ประกันสังคม

แฟ้มภาพ
นักกฎหมายชี้ออกกฎกระทรวงแรงงาน “เหตุสุดวิสัย” เปิดช่อง “นายจ้าง” ผลักภาระให้ประกันสังคม

ประกันสังคม- เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม นายชฤทธิ์ มีสิทธิ์ นักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชน กล่าวในเวทีเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ากฎหมายแรงงานไม่ศักดิ์สิทธิ์ในวิกฤตโควิด-19” ว่า ประเทศไทยไม่ได้มีกฎหมายที่ครอบคลุมสิทธิแรงงานในสภาวะวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือภัยพิบัติต่างๆ เท่าที่พบคือ มีมาตรา 75 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)คุ้มครองแรงงาน และมีกรณีว่างานจากเหตุสุดวิสัยของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ซึ่งมองว่าควรมีกฎหมายพิเศษขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือ เป็นกลไกในการดำเนินการ

“เพราะการคุ้มครองสิทธิแรงงานไม่ใช่คุ้มครองการว่างานและค่าจ้าง แต่หมายถึงสิทธิแรงงานพื้นฐานที่สำคัญหลายเรื่อง ทั้งนี้ สิ่งที่มองว่าเป็นปัญหา คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงกรณีเหตุสุดวิสัย ธุรกิจต่างๆ จึงแห่กันมาใช้สิทธิ์ โดยการหยุดกิจการชั่วคราวแล้วอ้างว่าเป็นเหตุสุดวิสัย จึงมีความเป็นห่วงว่าเจ้าหน้าที่ สปส.ที่จะวินิจฉัยเรื่องนี้จะใช้ฐานข้อเท็จจริง ข้อมูล หรือพยานหลักฐานใดว่า แรงงาน โรงงาน สถานประกอบการรายใดเกิดเหตุสุดวิสัยจากโควิด-19” นายชฤทธิ์ กล่าว

นายสุชาติ ตระกูลหูทิพย์ มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP) กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศกฎกระทรวงแรงงาน โรงงานมีการใช้มาตรา 75 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ แต่เมื่อประกาศกฎกระทรวง โรงงานก็เปลี่ยนวิธีการบอกให้คนงานมาใช้สิทธิ์กับทางประกันสังคมที่จ่ายร้อยละ 62 เหมือนเป็นการผลักภาระไปที่กองทุนประกันสังคม เป็นจังหวะในการฉกฉวย

“หากถามว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายบิดเบี้ยวหรือไม่ ในการที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงประกาศให้เงินชดเชย ร้อยละ 62 เรื่องนี้มองว่ารัฐอาจจะมีความหวังดีในการช่วยเหลือคนงาน แต่เนื่องจากเป็นการคิดที่ไม่รอบคอบ คืออยากทำอะไรทำไปก่อนโดยไม่ได้พิจารณาว่าสิ่งที่ทำนั้นมีโอกาสสร้างเงื่อนไข สร้างช่องทาง ที่จะทำให้เกิดการเข้าไม่ถึงสิทธิ์ ใช้สิทธิ์ที่บิดเบี้ยวเกินไป หรือทำให้มาตรการที่ภาครัฐออกมานั้นไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแต่ละส่วนที่วางไว้” นายสุชาติ กล่าว

Advertisement

ด้าน นายพรนาราย ทุยยะค่าย ทนายความแรงงาน กล่าวว่า การที่รัฐบบาลสั่งปิด หรือไม่ปิดสถานประกอบการบางประเภท ก็มีความเหลื่อมล้ำในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น กิจการโรงแรม ร้านค้า ถูกปิด คนกลุ่มนี้ก็จะถูกผลักภาระไปที่ทางประกันสังคม และอีกประเด็นที่สร้างความสับสนให้กับแรงงานคือ จะได้สิทธิประโยชน์จากสถานการณ์นี้อย่างไร นอกจากนี้ คำว่าเลิกจ้างไปก่อนก็ยังไม่มีความชัดเจนซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะนานเท่าไร ดังนั้น บางสถานประกอบการการจึงใช้จังหวะของโควิด-19 ในการเลิกจ้างพนักงาน ทั้งนี้จะเห็นว่าทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ หรือสถานการณ์โลกที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย คนที่ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรกคือ แรงงาน จะเห็นว่าที่ผ่านมา เป็นการแก้ปัญหาตามหลังสถานการณ์ และในอนาคตก็น่าจะมีสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบใหญ่ๆ เช่นนี้อีก ฉะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมองในมุมนี้ว่าจะรับมืออย่างไร

ขณะที่ นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลต้องเยียวยาลูกจ้าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบเรื่องการจ้างงาน เนื่องจากคนกลุ่มนี้เป็นคนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม และจ่ายภาษี แต่เมื่อลูกจ้างเดือดร้อนกลับไม่ดูแลเช่นกลุ่มคนอื่นๆ ในสังคม ถือเป็นความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม ที่จะต้องใช้เงินตัวเอง นอกจากนี้ มีบริษัทจำนวนมากที่อ้างโควิด-19 ซึ่งควรมีการตรวจสอบและขึ้นบัญชีดำ ส่วนบริษัทใดที่มีธรรมมาภิบาลรัฐบาลก็ควรส่งเสริมเยียวยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image