ฟื้นฟู-ล้มละลาย ‘บินไทย’ ยื่นทั้งศาลไทย-สหรัฐ ใช้โมเดลแอร์ไลน์ของโคลอมเบีย เข้า คนร.พรุ่งนี้

ชี้ชะตาการบินไทย 18 พ.ค.นี้ จับตา “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) วันที่ 18 พฤษภาคมนี้ เหลือแค่ 2 ทางเลือก 1.ลดการถือหุ้นของกระทรวงการคลังลง 50% และ 2.เข้าสู่ศาลล้มละลาย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยได้ข้อสรุปว่าจะเสนอ 2 ประเด็นหลัก เข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 18 พฤษภาคม ประกอบด้วย 1.ลดการถือหุ้นของกระทรวงการคลังลง 50% และ 2.นำเรื่องที่เสนอให้ คนร.เห็นชอบเข้าสู่ศาลล้มละลาย ซึ่งภายหลังการพิจารณาของ คนร.จะต้องนำเสนอข้อสรุปในการพิจารณาดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้อีกครั้ง

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การประชุม คนร.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน เพื่อนำเสนอ คนร.พิจารณาแผนฟื้นฟูการบินไทย ตามกระบวนการของกฎหมายล้มละลาย เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการฟื้นฟูจากที่ คนร.เคยให้แนวทางไว้เมื่อตอนปลายเดือนเมษายน ดังนั้น หากจะเปลี่ยนแนวทางต้องนำเสนอเข้า คนร.ก่อนที่จะเสนอ ครม.

ทั้งนี้ ในการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูตามกฎหมายล้มละลายนอกจากยื่นต่อศาลล้มละลายของไทยแล้ว ต้องยื่นล้มละลายต่อศาลสหรัฐ โดยจะใช้แนวทางของสายการบินอาเวียงกา แอร์ไลน์ ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของโคลอมเบีย ยื่นล้มละลายจากพิษไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีการยื่นพิทักษ์ทรัพย์ ภายใต้กฎหมายล้มละลายมาตรา 11 ต่อศาลในรัฐนิวยอร์ก เพื่อให้เลื่อนการชำระหนี้กับเจ้าหนี้ออกไปได้ เพราะเจ้าหนี้ของการบินไทยมีต่างชาติจำนวนมาก และการบินไทยมีทรัพย์สินอยู่ทั่วโลก หากไม่ยื่นต่อศาลล้มละลายนิวยอร์ก อาจมีปัญหาได้

Advertisement

สำหรับขั้นตอนทางกฎหมายการเข้าสู่การล้มละลายมี 2 แนวทาง คือ แนวทางแรกกรณีมีหนี้มาก เจ้าหนี้ฟ้อง เพื่อทำให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ล้มละลายเจ้าหนี้จะรวบรวมทรัพย์สินต่างๆ มาขายหรือแบ่งกัน ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะไม่มีการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการบินไทยคาดว่าจะเลือกแนวทางที่ 2 คือ จัดทำแนวทางฟื้นฟูตามกฎหมายล้มละลาย โดยลูกหนี้หรือเจ้าหนี้เป็นผู้ร้องต่อศาล เพื่อนำไปสู่แนวทางฟื้นฟูกิจการ จะมีการแต่งตั้งผู้จัดทำแผนฟื้นฟูเข้ามาดูแลการบินไทย ซึ่งการฟื้นฟูนั้นศาลจะยังไม่ได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หรือสั่งยกเลิกการเป็นนิติบุคคล ทำให้เจ้าหนี้ไม่สามารถฟ้องร้องกับการบินไทยได้ และสามารถยืดเวลาชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ สอดคล้องกับสถานะของการบินไทยขณะนี้ที่กำลังขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก จนไม่สามารถชำระหนี้ได้

“การบินไทยเป็นธุรกิจที่สามารถฟื้นตัวได้ หากให้เวลาและมีแผนฟื้นฟูที่ดีพอ ในฐานะสายการบินแห่งชาติ รัฐบาลคงไม่สามารถปล่อยให้ล้มละลายแบบไม่มีการฟื้นฟูได้ แต่ถ้าไม่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูของศาล รัฐบาลต้องหาเงินมาช่วยการบินไทยอีกหลายแสนล้านบาท เพื่อให้ฟื้นตัว ขณะนี้มีเสียงคัดค้านมากและการช่วยค้ำประกันเงินกู้มีปัญหาด้านกฎหมาย ดังนั้น แนวทางการฟื้นฟูด้วยกฎหมายล้มละลายน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด” แหล่งข่าวกล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image