“อนุทิน” เปิดอาคารผู้ป่วยวิกฤตระบบหายใจ รพ.มธ. ยกระดับรพ.โควิดสมบูรณ์แบบ

อนุทิน เปิดอาคารผู้ป่วยวิกฤตรพ.ธรรมศาสตร์ ฯ ยกระดับรพ.โควิดสมบูรณ์แบบ

เมื่อเวลา 15.00 น. ที่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข เยี่ยมชมอาคารผู้ป่วยวิกฤตระบบการหายใจบ้านปู เพื่อยกระดับ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเป็นโรงพยาบาลโควิดสมบูรณ์แบบ และร่วมแถลงข่าวยุติการส่งผู้ป่วยโควิดเข้าโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์พร้อมทั้งมอบเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ในจังหวัดปทุมธานี ประกอบด้วย รถฉุกเฉินทางการแพทย์จำนวน 7 คัน ตู้ตรวจผู้ป่วยความดันลบ 4 ตู้ หน้ากากป้องกันการติดเชื้อ 3 ,000 ชิ้น และอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่น ๆ


รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า เนื่องจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลศูนย์กลางที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แหล่งสำคัญของประเทศไทย รวมทั้งยังเป็นโรงพยาบาลที่รองรับการโอนย้ายผู้ป่วยที่ตรวจพบการติดเชื้อจากโรงพยาบาลอื่น ๆ มาดูแลรักษาอีกด้วย ทั้งนี้ กองทุน มิตรผล-บ้านปู รวมใจช่วยไทยสู้ภัย COVID-19 ให้การสนับสนุน รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ผ่านการมอบงบประมาณ 30,000,000 บาท เพื่อสร้างและปรับปรุงห้องความดันลบ และจัดหาเครื่องช่วยหายใจรองรับการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19

ผศ.นพ.ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์ ผอ.รพ.สนามธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์การแพร่ระบาดเชื้อCOVID-19 ที่จำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีผู้ป่วยติดเชื้อเข้ามารักษาในโรงพยาบาลจำนวนมาก และเริ่มเกินศักยภาพการรองรับของโรงพยาบาลต่าง ๆโดยเฉพาะโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย แต่ทราบว่า 80% ของผู้ป่วยมีอาการเพียงเล็กน้อย มีเพียง 20% ที่มีอาการมากต้องการรักษาในโรงพยาบาล แต่สภาพในขณะนั้นผู้ป่วยเกือบทั้งหมดอยู่ในโรงพยาบาลส่งให้ผู้ป่วยใหม่ไม่สามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้ ถ้าเราปล่อยอยู่ในสภาพนี้ก็จะส่งผลต่อคุณภาพการรักษาและอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตมากขึ้น

Advertisement

ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติจึงได้วางแผนและตัดสินใจในการสร้างโมเดลรูปแบบในการดูแลรักษาผู้ป่วย COVID-19 ให้มีศักยภาพ เป็นต้นแบบกับรพ.ในส่วนอื่น ๆ นั่นคือโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ โดย ทีมบริหารและมหาวิทยาลัยจึงได้ร่วมกันตัดสินใจดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่แย่ลง ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นต้นแบบและมีการเปิดโรงพยาบาลสนามไปทั่วประเทศ

Advertisement

จากสถานการณ์ที่จำนวนผู้ป่วยใหม่ของประเทศลดลงจนเป็นศูนย์ร่วมกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติได้มีการขยายศักยภาพ สามารถรองรับผู้ป่วยได้ในขณะนี้จำนวน 46 เตียง ทำให้ความจำเป็นของโรงพยาบาลสนามในขณะนี้ลดลง โดยในวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงได้แถลงข่าวการยุติการดำเนินงานของโรงพยาบาลสนามลงชั่วคราวปรับสู่โหมด stand by โดยจะสามารถเปิดใหม่ได้ภายใน 24 ชั่วโมง หากมีความจำเป็นเพื่อรองรับการระบาดระลอก 2 หรือ 3 ในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image