ครูชุมพรยอมรับเด็กเข้าเรียนออนไลน์ไม่ถึง 50% ออกสำรวจพบ 3 พี่น้องบ้านใกล้พัง

ครูชุมพรยอมรับว่าเด็กเข้าเรียนออนไลน์ไม่ถึง 50% ออกสำรวจพบ 3 พี่น้องบ้านใกล้พัง

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 นางสาวภนิดา นพชำนาญ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดขันเงิน อ.หลังสวน จ.ชุมพร เปิดเผยว่า หลังมีนโยบายการเรียนการสอนออนไลน์สำหรับนักเรียนทุกระดับ โรงเรียนชุมชนวัดขันเงินเป็นโรงเรียนประถมศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึง ป.6 มีนักเรียนทั้งสิ้น 1,426 คน นักเรียนกระจายอยู่หลายอำเภอทั้ง อ.หลังสวน อ.พะโต๊ะ อ.ทุ่งตะโก อ.ละแม และนักเรียนจำนวนหนึ่งมีฐานะทางครอบครัวยากจน จนถึงยากจนมาก ในช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 โรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอนเป็นเวลานาน ต่อมาได้มีนโยบายให้มีการเรียนการสอนออนไลน์ ทั้งในสื่อออนไลน์ ผ่านโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือผ่านโทรทัศน์ดาวเทียม ขณะที่โรงเรียนมีความเป็นห่วงความเป็นอยู่ของนักเรียนในสังกัดและครอบครัว จึงจัด “โครงการหนูอยู่ไหนครูไปนั่น” เพื่อสำรวจความเป็นอยู่ของนักเรียนทั้งหมด แล้วนำมาวางแผนการเรียนการสอนออนไลน์ โดยให้คณะครูของโรงเรียนออกไปพบนักเรียนถึงบ้านของนักเรียนในสถานที่ต่างๆ ทำให้ได้พบสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวนักเรียนแต่ละคน แต่ที่น่าเวทนาก็คือ ครอบครัวของนักเรียนหลายสิบครอบครัว ที่อยู่ในสภาพยากจนจนถึงยากจนมาก

จากนั้นคณะครูของโรงเรียนชุมชนวัดขันเงินได้ลงพื้นที่ไปยังบ้านเลขที่ 8 หมู่ 7 ต.ขันเงิน อ.หลังสวน จ.ชุมพร พบครอบครัวของนักเรียน ป.1 ชื่อ ด.ญ.กระแต (นามสมมุติ) อายุ 7 ปี ลูกสาวคนที่ 3 ของนางจรรยากับนายอนุชาติ มีพี่สาวชื่อ ด.ญ.จ๋า (นามสมมุติ) อายุ 14 ปี เรียนชั้น ม.2 และ ด.ญ.ใบเตย อายุ 10 ขวบ นักเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนแห่งหนึ่ง สภาพบ้านเป็นกระต๊อบหลังคามุงสังกะสี ยกพื้นสูงจากพื้นดินเพียงเล็กน้อย ในบ้านมีเพียงห้องเดียวใช้เป็นที่นอนของทั้ง 5 ชีวิต มุมหนึ่งใช้เป็นที่หุงหาอาหาร สภาพบ้านชำรุดมากจนเกือบพัง ส่วนห้องน้ำห้องส้วมต้องใช้ผ้าเต็นท์มากั้นไว้เท่านั้น โดยนายอนุชาติผู้เป็นพ่อมีอาชีพทำสวนปาล์ม ส่วนนางจรรยาผู้เป็นแม่มีอาชีพรับจ้างทั่วไปในตลาดหลังสวน ก่อนหน้าเกิดวิกฤตโควิด-19 มีรายได้ทั้งครอบครัว วันละ 200-300 บาท เดือนละประมาณ 6,000 บาท ซึ่งทุกคนก็ต้องอดออมอย่างมาก แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ร้านค้าในตลาดหลังสวนได้ปิดตัวลง ราคาผลปาล์มตกลงเหลือเพียง กก.ละ 1-2 บาท รายได้จึงลดลงเหลือเพียงวันละ 100 กว่าบาท ทำให้เกิดความลำบากอย่างหนัก

“หลังเปิดการเรียนการสอนออนไลน์ มีการตอบรับจากนักเรียนไม่ถึง 50% จึงต้องจัดคณะครูออกเยี่ยมบ้านนักเรียน จึงได้พบความยากลำบากของนักเรียนส่วนหนึ่ง มีทั้งบ้านที่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีตู้เย็น ไม่มีทีวี จึงให้ครูเดินทางเข้ามาสอนถึงบ้าน บางครอบครัวมีความลำบากมาก โดยเฉพาะการที่จะให้ลูกได้เรียนหนังสือ เพราะจะต้องใช้เงินตลอดเวลา ขณะที่รายได้ลดลง บางวันแทบไม่มีเงินซื้อข้าวสาร จึงอยากให้สังคมได้ช่วยเหลือครอบครัวที่ยากลำบากเหล่านี้ด้วย” นางสาวภนิดากล่าว ก่อนรายงานให้นายปกาศิต พรประสิทธิ์ นายอำเภอหลังสวนรับทราบเพื่อขอความช่วยเหลือในเบื้องต้น

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image