เครือข่าย”โค้ชดิจิทัลชุมชน” เพื่อสร้างทักษะดิจิทัลพื้นฐานให้ทุกคน

นายสันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี กรุ๊ป (Sea Group) บริษัทแม่ของ การีนา ช็อปปี้ แอร์เพย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า

“มีไอเดียหนึ่งที่ผมอยากขอลองชวนทุกคนช่วยกันคิดต่อครับ

1.ในโลกที่ความสามารถในการใช้ดิจิทัลเปลี่ยนจาก ”อาหารเสริม” กลายเป็นอาหารหลักเหมือน “น้ำ” ที่ขาดไม่ได้ ประเด็นเรื่องทักษะดิจิทัลพื้นฐาน (Basic Digital Literacy) ในการดำเนินชีวิต (ซื้อของ จ่ายเงิน ส่งของ หาหมอ) ทำงาน (ขายของ เรียนหนังสือ สอนหนังสือ ช่วยการเกษตร) และป้องกันตัว (สร้างพาสเวิร์ดยังไงให้ปลอดภัย ระวังโดนแฮ็คยังไง ระวัง Fake News กระบวนการต้มตุ๋น) ยิ่งกลายเป็นเรื่องสำคัญและหลายคนยังขาด ทำให้ใช้ดิจิทัลไม่ได้เต็มที่แม้เข้าถึงอินเตอร์เน็ท

2.ในขณะเดียวกันสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้อาจทำให้มีคนจำนวนมากไม่มีงานทำ อาจถูกเลิกจ้างหรือกำลังจะเรียนจบแล้วหางานไม่ได้ ถ้าเป็นสมัยก่อนวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจก็อาจจะเป็นการจ้างให้คนไปทำงานในโครงการรัฐในชุมชน เช่น งานก่อสร้าง แต่วันนี้ก็ไม่แน่ใจว่าคนรุ่นใหม่อยากทำงานลักษณะนี้แค่ไหนหรือมันพอเพียงหรือไม่

Advertisement

3.สิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้จากวิกฤตโควิดคือความสำคัญของเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็งและการที่มีคนที่คอยให้ความรู้พื้นฐานด้านสาธารณสุข (Health Literacy)กับคนในชุมชน นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้อสม.ประสบความสำเร็จอย่างมาก
หากเราเอา 3 ข้อนี้มารวมกัน คำถามคือ

เราสามารถสร้างเครือข่าย “โค้ชดิจิทัลชุมชน” ที่ทำหน้าที่ให้ความรู้และทักษะพื้นฐานดิจิทัลให้คนในพื้นที่ได้ไหม?
โดย ดีไซน์คร่าวๆประมาณนี้ครับ

– ทำการอบรมให้ทักษะคนรุ่นใหม่ตามชุมชนต่างๆที่บางคนอาจกลับบ้านเกิดเพราะถูกกระทบจากโควิด-19 และนักศึกษาที่กำลังจะเรียนจบให้มีทักษะดิจิทัลพื้นฐานครอบคลุมทุกด้านตามที่ยกตัวอย่างด้านบน ซึ่งหลายคนน่าจะมีพื้นฐานดีเป็นทุนอยู่แล้ว
– รวมการสอนเรื่อง Soft Skill เช่นทักษะการสื่อสาร การสอนผู้อื่น การทำงานเป็นทีมไปด้วย
– รัฐบาลสามารถจ้างคนเหล่านี้เป็น”โค้ชดิจิทัล”ในชุมชนของตนเอง คือเป็นผู้ที่คอยถ่ายทอดทักษะดิจิทัลพื้นฐานช่วยเหลือคนในชุมชน โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้เกิดมากับดิจิทัล
– อาจเริ่มจากการพ่อแม่ลุงป้าน้าอาตัวเอง เป็นโมเดล”ลูกสอนพ่อแม่”และผู้ให้บริการที่มีความรู้พื้นฐานแล้วระดับหนึ่งจะได้ช่วยกันสอนต่อได้
– เป็นโมเดล “Training the trainers”ทำให้scaleได้
– หากจะมีการทดสอบทักษะดิจิทัลเพื่อวัดผลของโครงการนี้ก็ทำได้ เพราะมีองค์กรที่ทำแบบทดสอบอยู่แล้วพอควร

Advertisement

ข้อดีคือ
1. สร้างงานกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านคนรุ่นใหม่ที่ถูกกระทบจากโควิดจนตกงาน จะได้มีทั้งเงินทั้งงานทำ ไม่ใช่แค่แจกเงินอย่างเดียว และเป็นงานที่น่าสนใจกว่าทำก่อสร้าง หรือเกษตรแบบดั้งเดิมที่เขาอาจไม่สนใจ
2. สร้างทักษะใหม่ พวกเขาจะได้เรียนรู้ฝึกทักษะดิจิทัลใหม่ๆที่อาจยังไม่มี รวมถึงทักษะการสื่อสาร ที่จำเป็นกับอนาคตและการหางานด้วย
3. สร้างบทบาทคนรุ่นใหม่ในชุมชน พวกเขาจะได้มีบทบาทที่ดีในชุมชนมีความภูมิใจ มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับทั้งพ่อแม่และคนในชุมชนตัวเอง ลดช่องว่างระหว่างรุ่น (Inter generational gap) สร้างความสามัคคีมีนำ้ใจช่วยเหลือกัน
4. เสริมDigital Literacyในชุมชน ผู้ใหญ่ในชุมชนจะได้เพิ่มทักษะดิจิทัลพื้นฐานมากขึ้น สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่ว่าจะเป็นด้านทำธุรกิจออนไลน์สำหรับ SME การสอนหนังสือออนไลน์สำหรับครูที่ยังไม่คุ้นการสอนแบบนี้ การใช้เทคโนโลยีประกอบการเกษตรสำหรับชาวไร่ชาวนา ฯลฯ และตกเป็นเหยื่อภัยทางดิจิทัลน้อยลง
5. อยู่บนฐานความอกเข้าใจกัน (Empathy) การที่เป็นคนจากชุมชนเดียวกัน มีความรู้จักคุ้นเคยกัน เข้าใจสังคมและวัฒนธรรมภายใน น่าจะทำให้การเรียนรู้ไปได้ดีกว่าเอาคนนอกมาสอนแป๊บๆแล้วก็หายไป (เรียนรู้จากโมเดลอสม)
6. มีเกิดขึ้นอยู่แล้ว ที่สำคัญคือผมเข้าใจว่านี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่แล้วในบางชุมชน หรืออย่างน้อยก็บางครอบครัว บทบาทของรัฐบาลคือแค่เข้ามาช่วยสเกลให้กระจายมากขึ้น มีระบบขึ้น
ทั้งหมดอาจจะลองทำเป็นชุมชนนำร่องไปก่อนเพื่อปรับดีไซน์ วิธีการ แล้วค่อยขยายไปทั่วก็ได้ เพราะยังมีรายละเอียดอีกเยอะ แต่ขอคร่าวๆแค่นี้ก่อน มาช่วยกันคิดต่อนะครับ
โควิดน่ากลัวแต่คลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับโควิดก็รุนแรงเช่นกัน มีทั้งความท้าทายแต่ก็มีโอกาส
อยากให้ประเทศไทยใช้โควิดเป็นโอกาสให้แกร่งและพร้อมรับมือโลกอนาคตที่มาถึงเร็วขึ้นได้ดีขึ้นครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image