‘ดีอีเอส’ ย้ำขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ บางมาตรา มีผล พ.ค.63-64

‘ดีอีเอส’ ย้ำขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ บางมาตรา มีผล พ.ค.63-64

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ขณะนี้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ได้ขยายเวลาการบังคับใช้บทบัญญัติบางมาตรา ออกไปตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2563 – 31 พฤษภาคม 2564 โดยมีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)​ กำหนดหน่วยงานและกิจการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว หลังจากที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างเมื่อวัน 19 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมี 22 หน่วยงาน/กิจการ เช่น หน่วยงานของรัฐ, หน่วยงานของรัฐต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ, มูลนิธิ, สมาคม, องค์กรศาสนา, องค์ที่ทำงานโดยไม่แสวงหากำไร (เอ็นจีโอ), กิจการด้านเกษตรกรรม, อุตสาหกรรม, พาณิชยกรรม, การแพทย์และสาธารณสุข เป็นต้น ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ถ้ากฎหมายถูกบังคับใช้ตามกำหนดเดิมคือวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 จะเกิดปัญหาเพราะรายละเอียดทุกอย่างจะมีผลทันที อาทิ การเข้าไปตรวจสอบว่าแต่ละหน่วยงานทำตามกฎหมายหรือไม่ การร้องเรียน หรือการมีบทลงโทษที่ค่อนข้างหนัก แต่ด้วยสถานการณ์ที่ไวรัสโควิด-19 ระบาด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เช่น กิจการธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน โรงแรม สมาคม มูลนิธิ ผู้ประกอบการรายเล็ก เป็นต้น จะได้รับผลกระทบ เพราะต้องลงทุนเพื่อเตรียมระบบป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล จึงได้เรียกร้องมายังรัฐบาลให้ช่วยเหลือดูแลในเรื่องนี้ ซึ่งพร้อมรับฟังความคิดเห็นของทุกคน

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ข้อมูลของประชาชนจะได้รับความคุ้มครองตามมาตรฐานเหมือนเดิม เพราะยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ยังทำหน้าที่อยู่ เช่น การโพสต์ภาพของผู้อื่นในโซเชียลมีเดียโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือนำไปตัดต่อบิดเบือน ก็สามารถเอาผิดผู้ที่ละเมิดได้ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยไม่จำเป็นต้องรอ พ.ร.บ. ฉบับนี้

“ที่ผ่านมา 1 ปี หลายหน่วยงานก็เตรียมตัวปรับปรุงระบบต่างๆ อาทิ สมาคมธนาคารไทย แต่หลายองค์กรต้องมาเจอกับโรคระบาดจึงทำได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้ เราต้องใช้เวลาในการรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน เพื่อจัดทำกฎหมายลูกที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมมากที่สุด ซึ่งได้เปิดรับฟังไปแล้ว 3-4 ครั้ง แต่ต้องหยุดชะงัก โดยยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ขอโอกาสให้ความเห็นอยู่ เพราะเขาเป็นคนที่ต้องถูกบังคับใช้ และได้รับผลกระทบโดยตรง” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

Advertisement

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ส่วนคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตามกฎหมายนั้น ขณะนี้ ครม.เห็นชอบแล้วและพร้อมทำงาน ซึ่งทุกคนได้ผ่านกระบวนการคัดกรองและสรรหาตามขั้นตอนที่ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร โดยกระทรวงดีอีเอสได้จัดเตรียมงบประมาณและการสนับสนุนต่างๆ ไว้ให้หมดแล้ว สามารถดำเนินการได้ทันที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image