‘เฉลิมชัย’ ยันกลับเยียวยา ขรก.ขึ้นทะเบียนเกษตรกรหรือไม่ เป็นอำนาจ กก.กลั่นกรองฯ-ครม.

‘เฉลิมชัย’ ยันกลับจ่ายเงินเยียวยาข้าราชการหรือไม่ เป็นอำนาจคณะกรรมการกลั่นกรองฯ และ ครม. เผยกระทรวงเกษตรฯส่งรายชื่อเกษตรกรครั้งที่ 2 ให้ ธ.ก.ส.แล้ว 3,428,008 ราย ย้ำหากตกหล่นให้ยื่นอุทธรณ์ด่วน

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงกรณีประเด็นการเยียวยาข้าราชการที่อยู่ในทะเบียนเกษตรกรว่า เรื่องดังกล่าวขอให้ทำความเข้าใจก่อนว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบการลงทะเบียนและรวบรวมรายชื่อเกษตรกรที่ลงทะเบียนเป็นผู้ได้รับสิทธิตามโครงการช่วยเหลือ เยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งให้กับกระทรวงการคลัง เพื่อ ดำเนินการคัดกรองและตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับผู้ได้รับสิทธิตามโครงการเพื่อช่วยเหลือเยียวยาและชดเชยให้แก่ประชาชน และตรวจสอบกับผู้ที่ได้รับสวัสดิการผ่านระบบข้าราชการบำนาญ และระบบประกันสังคม ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 เมษายน ก่อนส่งกลับมาที่กระทรวงเกษตรเพื่อส่งมอบข้อมูลรายชื่อต่อให้กับทาง ธ.ก.ส.ดำเนินการจ่ายเงิน

“หน่วยงานที่กำหนดเกณฑ์และทำหน้าที่คัดกรองไม่ให้สิทธิซ้ำซ้อนคือกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ ดังนั้น การจะจ่ายเงินเยียวยาให้ข้าราชการที่อยู่ในทะเบียนเกษตรกรหรือไม่นั้น การตัดสินใจเป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ และต้องเป็นมติของคณะรัฐมนตรี หากทางคณะกรรมการกลั่นกรองเห็นสมควรให้ได้รับสิทธิเยียวยา และเสนอให้ ครม.ให้มีมติ ออกมา กระทรวงเกษตรพร้อมดำเนินการทันที เพราะมีฐานข้อมูลรายชื่อทั้งหมดแล้ว สามารถดำเนินการได้ อย่างรวดเร็วและไม่มีตกหล่น” นายเฉลิมชัยกล่าว

นายเฉลิมชัยได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงกรณี นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการ คลัง (สศค.) แถลงข่าวว่าการตัดสินใจจ่ายเยียวยาให้ข้าราชการเป็นอำนาจของกระทรวงเกษตร ว่าเรื่องนี้ สศค.คงมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะข้อเท็จจริงกระทรวงเกษตรเป็นผู้รวบรวมและส่งรายชื่อเกษตรกรให้กระทรวงการคลังและคณะกรรมการกลั่นกรอง เพื่อพิจารณากลั่นกรองและตรวจความซ้ำซ้อน ดังนั้น การตัดสินใจว่าจะมีการจ่ายให้ข้าราชการและอื่นๆ หรือไม่นั้น ในทางปฏิบัติแล้วเป็นเรื่องของคณะกรรมการ กลั่นกรอง และที่สำคัญต้องมีการวางแนวปฏิบัติที่ชัดเจนออกมา กระทรวงเกษตรรอเพียงการพิจารณาและ การตัดสินใจของคณะกรรมการกลั่นกรองว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร

“กระทรวงเกษตรพร้อมดำเนินการทันทีเมื่อมีแนวทางที่ชัดเจน เพราะกระทรวงเกษตรให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิทธิของเกษตรกรทุกคนที่ขึ้นทะเบียนเพื่อรับการเยียวยาอย่างทั่วถึง รวดเร็ว ให้ทันตามกำหนดเวลา และที่สำคัญต้องไม่มีรายชื่อตกหล่น” นายเฉลิมชัยกล่าว

Advertisement

ด้าน นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรได้หารือกับคณะกรรมการกลั่นกรองในประเด็นข้าราชการที่อยู่ในทะเบียนเกษตรกร ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนว่าข้าราชการไม่ควรได้รับการเยียวยาในส่วนนี้ อีกทั้งจะต้องมีการซักซ้อมทำความเข้าใจถึงวิธีการปฏิบัติ และความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง และคาดว่ามีการนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ต่อไป

ส่วนความคืบหน้าการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร นายอนันต์กล่าวว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือครั้งที่ 1 ธ.ก.ส.ได้โอนเงินแล้วทั้งสิ้น 3,222,952 ราย และกระทรวงเกษตรได้ส่งข้อมูลเกษตรกรครั้งที่ 2 ให้กับ ธ.ก.ส.แล้ว เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา อีกจำนวน 3,428,008 ราย เพื่อดำเนินการจ่ายเงิน คาดว่า ธ.ก.ส.จะโอนเงินได้ช่วงวันที่ 22-29 พ.ค.นี้ ขณะเดียวกันได้ส่งรายชื่อเกษตรกรอีก 700,000 ราย ให้กระทรวงการคลังเพื่อให้ คัดกรองและตรวจสอบความซ้ำซ้อน ส่วนเกษตรกรที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงและขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมอีกจำนวน 1.6 ล้านราย จะได้รวบรวมและส่งข้อมูลให้กระทรวงการคลังต่อไป

นายอนันต์กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับเงินเยียวยาสามารถอุทธรณ์ได้ที่สำนักงานส่วนภูมิภาค ได้แก่ สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานประมงจังหวัด/อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด/อำเภอ สำนักงานหม่อนไหม เฉลิมพระเกียรติฯ เขต/เครือข่าย สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จังหวัด/สาขา เขตระบบบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย 1-8 และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ภาค 1-4 และสำนักงานสรรพสามิตจังหวัด ส่วนระบบออนไลน์เข้าใช้บริการที่ www.moac.go.th

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image