‘เครดิตบูโร’ ประเมินหนี้เสียปี 63 เพิ่มกว่า 1 ล้านล้านบาท หลังโควิด-19 ฉุดศักยภาพชำระหนี้ลดลง

เครดิตบูโรประเมินหนี้เสียปี 63 เพิ่มกว่า 1 ล้านล้านบาท หลังโควิด-19 ฉุดศักยภาพชำระหนี้ลดลง

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า ในปี 2563 คาดว่าปริมาณการเกิดหนี้ไม่ก่อรายได้ หรือหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) จะเพิ่มขึ้นเกิน 1 ล้านล้านบาทสูงเกิน 10% เป็นตัวเลข 2 หลัก เนื่องจากศักยภาพชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลง เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้รายได้ลูกหนี้ลดลง โดยหวังว่าปัจจัยที่จะเข้ามาช่วยชะลอการเกิดหนี้เสียได้คือ การปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน และการที่ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ มาเพิ่มเติม โดยจากข้อมูลของเครดิตบูโรพบว่า ในไตรมาสแรกปี 2563 ประเทศไทยมีหนี้เสีย ปรับสูงขึ้นกว่า 9.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 8.1% ของหนี้ครัวเรือนที่เก็บในเครดิตบูโร มูลค่าประมาณ 11.7 ล้านล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 7.7 แสนล้านบาท โดยแนวโน้มหนี้เสียในไตรมาสแรกปรับเพิ่มขึ้น สะท้อนภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งไตรมาส 2 หลายฝ่ายประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจจะแย่กว่าไตรมาสแรกจึงเชื่อว่าตัวเลขหนี้เสียไตรมาส 2 จะวิ่งขึ้นไปเป็นตัวเลข 2 หลัก

นายสุรพลกล่าวว่า หนี้ครัวเรือนอย่างเป็นทางการในปัจจุบันอยู่ที่ 13.3 ล้านล้านบาท แต่เก็บในเครดิตบูโร ได้เพียง11.7 ล้านล้านบาท เนื่องจากยังไม่นับรวมหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ และลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยหนี้ครัวเรือนช่วงที่ผ่านมามีการปรับเพิ่มขึ้นสูงมาก โดยเฉพาะหนี้ของกลุ่มบุคคลอายุตั้งแต่ 20-22 ปี (เจนแซด) ซึ่งพบว่าสร้างหนี้แล้วกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท กลายเป็นหนี้เสียมูลค่า 1,200 ล้านบาท อายุ 23-39 ปี (เจนวาย) มีหนี้ 4 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เสีย 2.7 แสนล้านบาท และอายุ 40-54 ปี (เจนเอ็กซ์) มีหนี้ 3.7 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เสียแล้ว 2.8 แสนล้านบาท โดยข้อมูลในปัจจุบันมีลูกหนี้เก็บในเครดิตบูโร 108 ล้านบัญชีครอบคลุม 28 ล้านลูกหนี้ แต่ในไตรมาสแรกพบว่า การสมัครสินเชื่อใหม่ยังมีน้อยมาก เพราะสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และยังขอดูข้อมูลลูกค้าเก่า ดูสถานะการชำระหนี้คืนว่ายังดีอยู่หรือไม่ มีค้างชำระจากที่ใด หรือจ่ายและไม่จ่ายอย่างไรบ้าง ซึ่งภายในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา สถาบันการเงินขอดูข้อมูลส่วนนี้แล้ว 26 ล้านครั้ง โดยเฉพาะในเดือนเมษายน ที่ผ่านมา หลังจากเกิดการระบาดของโควิด-19 มีการดูมากถึง 10 ล้านครั้งในเดือนเดียว และอาจจะขอเข้าดูมากถึง 70 ล้านครั้งในปีนี้เพื่อดูศักยภาพในการผ่อนชำระหนี้คืนของบุคคล หากผิดปกติจะได้รีบเข้าแก้ไขในทันที เพื่อไม่ให้หนี้ดีตกชั้นกลายเป็นหนี้เสียไป

สถานการณ์ที่กำลังเจออยู่ในขณะนี้ สถาบันระหว่างประเทศแมคเคนซี ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการตลาดและกฎหมาย ได้ประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไว้ว่า ประมาณการการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ไทย จะติดลบที่ -10% หากปิดล็อกดาวน์ตั้งแต่เดือนเมษายนพฤษภาคม 2563 และจะติดลบเพิ่มขึ้นกว่า-14% หากปิดล็อกดาวน์ตั้งแต่เดือนเมษากรกฎาคม 2563 โดยจีดีพีปีนี้ระดับที่จะติดลบเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง ติดลบ-6% ถึง ลบ -10% ซึ่งหวังว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 จะเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้ และทยอยฟื้นตัวขึ้น จากการสำรวจ91% มีความกังวลเกี่ยวกับรายได้ของตนเอง 75% จะลดการซื้อของที่ไม่จำเป็น และอีก 80% กังวลในการออกจากบ้านซึ่งผลกระทบจากความกังวลทั้งหมด จะเกิดขึ้นในหลายภาคส่วน และเชื่อมโยงให้หนี้เสีย เพิ่มขึ้น 2-3 เท่า จากที่เห็นในปัจจุบันนายสุรพลกล่าว

นายสุรพลกล่าวว่า สำหรับสาเหตุการเกิดหนี้เสีย ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นทั้งหนี้เสียของบัตรเครดิต สินเชื่อบ้านรถยนต์และสินเชื่อบุคคล รวมแล้วคิดเป็น 5.5% ของ 11.7 ล้านล้านบาท หากแบ่งตามประเภทสินเชื่อพบว่า ไตรมาสแรก มีหนี้เสียบ้านอยู่ที่ 4.9% ของสินเชื่อบ้าน 4.03 ล้านล้านบาท หนี้เสียรถยนต์ 6.2% ของสินเชื่อรถ 2.43 ล้านล้านบาท หนี้เสียบัตรเครดิต 15.2% ของสินเชื่อบัตร 4.7 แสนล้านบาท และหนี้เสียส่วนบุคคล 10.1% ของสินเชื่อส่วนบุคคล2.13 ล้านล้านบาท ซึ่งทั้งหมดมีการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหาจำนวนมาก เพื่อไม่ให้ตกชั้นเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น โดยยอมรับว่ามีความกังวลและเป็นห่วงคนที่กู้เงินเป็นก้อน ผ่อนเป็นงวด และยอดผ่อนสูงมากที่สุด อาทิ สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อรถยนต์ เนื่องจากพบว่าในช่วงที่ผ่านมา คนที่กู้เงินซื้อรถยนต์มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image