สธ. ลุยค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิด 2 ผู้ป่วยรายใหม่ ‘บาร์เบอร์ประชาชื่น’

สธ. ลุยค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิด 2 ผู้ป่วยรายใหม่ “บาร์เบอร์ประชาชื่น”

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวถึงแนวทางการสอบสวนโรคกรณีพบ 2 ผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ที่มีประวัติเข้าไปในที่ชุมชน ว่า ทีมสอบสวนโรคได้ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยทั้ง 2 ราย โดยผู้ป่วยรายแรกเป็นชายไทยอายุ 72 ปี มีโรคประจำตัวเบาหวานและมะเร็ง รับการรักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) เอกชนแห่งหนึ่ง ปกติจะป้องกันตัวเองด้วยการใส่หน้ากากเป็นประจำอยู่แล้ว มีประวัติไปใช้บริการที่ร้านตัดผมย่านประชาชื่น ต่อมาวันที่ 18 พฤษภาคม ไปตรวจรักษาโรคประจำตัวตามนัด แต่มีไข้ จึงได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ผลเป็นบวกจึงเข้ารับการรักษาตัวทันที และการสอบสวนโรคคนในครอบครัวเบื้องต้น พบว่าไม่มีอาการ ส่วนช่างตัดผม สวมหน้ากากอยู่ตลอดเวลา จัดเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำเพราะมีการป้องกัน และขณะนั้นไม่มีผู้รับบริการรายอื่นอยู่ในร้าน ส่วนบุคลากรในโรงพยาบาลเอกชนมีการป้องกันตามมาตรการป้องกันโรคอยู่แล้ว ทั้งนี้ได้เก็บตัวอย่างผู้สัมผัสทุกคนส่งตรวจหาเชื้อโควิด-19 จะทราบผลในอีกไม่นาน

นพ.โสภณกล่าวต่อว่า กรณีรายที่ 2 เป็นชายชาวเยอรมัน ขับรถพร้อมภรรยาคนไทยกลับไปเยี่ยมบ้านที่จังหวัดชัยภูมิ ทราบว่าติดเชื้อจากเข้ารับการตรวจโรคเพื่อสมัครงาน เบื้องต้นไม่มีอาการไข้ ขณะนี้ทีมสอบสวนโรคได้ประสานทางจังหวัดชัยภูมิติดตามตัวผู้สัมผัสทั้งหมดและเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้ได้ไปในหลายสถานที่ จะติดตามสอบสวนโรคค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ เพื่อส่งตรวจเชื้อต่อไป

“ผู้ป่วยรายใหม่ 2 รายนี้ มีการสวมหน้ากาก จึงช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก จึงขอย้ำเตือนประชาชนที่ไปในชุมชน ห้างสรรพสินค้า ตลาด ต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง ทุกคนต้องร่วมมือกันต่อ เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อโควิด-19 ให้น้อยที่สุด” นพ.โสภณกล่าว

จากผลการสำรวจของสถาบันวิชาการในประเทศอังกฤษ ระหว่างเดือนเมษายน พบว่า ประเทศไทยได้มีการสวมหน้ากากในช่วง 7 วันก่อนตอบแบบสอบถาม สูงถึงร้อยละ 95 มากกว่าประเทศในอาเซียนอีก 5 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศตะวันตก อาทิ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอังกฤษ ที่ประชาชนสวมหน้ากากน้อยเพียงร้อยละ 48, 44 และ 15 ตามลำดับ พบผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ตรงข้ามกับประเทศที่ผู้คนสวมหน้ากากร้อยละสูงๆ มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยต่ำ ดังนั้น การสวมหน้ากากมีประโยชน์ ได้ผลดีในการป้องกันโรคติดต่อทางเดินหายใจ ซึ่งสะท้อนจากอัตราการป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจในประเทศไทย เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ ลดลงอย่างมากในปีนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image