เอสเอ็มอีไทยผลิตชิ้นส่วนอากาศยานป้อนทอ. ช่วยชาติลดนำเข้าปีละ2พันล้านบาท

เอสเอ็มอีไทยผลิตชิ้นส่วนอากาศยานป้อนทอ. ช่วยชาติลดนำเข้าปีละ 2 พันล้านบาท เร่งตั้งหน่วยงานตีตรารับรองมาตรฐาน ตั้งเป้า 5 ปีผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินป้อนทั่วโลก

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับกองทัพอากาศ บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด (ทีเอไอ) สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย(ไทย ซับคอน) นำผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ กลุ่มดิจิทัล ซอฟแวร์ สมาร์ท อิเล็กทรอนิกส์ การบินและโลจิสติกส์ กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หารือแนวทางส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าสู่ตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ นำร่องการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัท อุตสาหกรรมการบิน ที่เป็นหน่วยงานซ่อมบำรุงอากาศยาน ทั้งเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ ของกองทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยราชการต่างๆ และเครื่องบินเชิงพาณิชย์ของสายการบิน ซึ่งแต่ละปีทีเอไอ มีมูลค่าการซ่อมบำรุงประมาณ 5,000 ล้านบาท เบื้องต้นชิ้นส่วนที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยผลิตได้ คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท เท่ากับว่าจะช่วยประหยัดการนำเข้า และสร้างรายได้ให้กับผู้ประกบอการเอสเอ็มอีโดยตรง

นายวีระพงศ์ กล่าวว่า ภายในเดือนมิถุนายน สสว.จะนำเสนอแนวทางการส่งเสริมเอสเอ็มอีให้เข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) 5 แนวทาง คือ กำหนดโควต้าการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะเอสเอ็มอีในท้องถิ่นและกลุ่มไมโคร การให้แต้มต่อด้านราคา ไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะไม่สามารถสู้ราคาได้ กำหนดประเภทสินค้าที่จะส่งเสริม กำหนดวงเงินการจัดซื้อจัดจ้าง และกำหนดโจทย์การผลิตล่วงหน้า หลังจากนั้นจะเปิดให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลงทะเบียนในระบบการตัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้เป็นไปตามหลักแกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง ตั้งเป้าหมายว่า จะทำทุกขั้นตอนให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ทันกับปีงบประมาณ 2564 ที่จะเริ่มตุลาคม 2563

“ต่อไปจะพาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปดูอุตสาหกรรมอื่นๆ อีก อาทิ อุตสาหกรรมการแพทย์ เพื่อให้เอสเอ็มอีไทยเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีมูลค่าสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท หากเข้าสู่งานภาครัฐได้สัก 10% จะสร้างเม็ดเงินเข้าสู่เอสเอ็มอีตรงไม่น้อยกว่า 130,000 ล้านบาท ส่วนการกำหนดวงเงินจัดซื้อจัดจ้าง เอสเอ็มอี รวมถึงผู้ประกอบการในประเทศ เห็นควรกำหนดเพดานวงเงินไม่เกิน 5.7 ล้านบาทต่อครั้ง ซึ่งสอดคล้องกับเงื่อนไขภายใต้ข้อตกลงของ องค์การการค้าโลก (ดับบิลทีโอ)”นายวีระพงศ์กล่าว

Advertisement

พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) กล่าวว่า แม้ไทยจะมีผู้ผลิตชิ้นส่วนได้แต่ยังไม่มีหน่วยงานรับรอง ดังนั้นภายใน 2 เดือนนี้ ทอ.เตรียมตั้งหน่วยรับรองมาตรฐานขึ้นมา จะทำให้ผู้ประกอบการไทยที่ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานได้ ผ่านการรับรอง ซ่อมเครื่องบินหน่วยงานรัฐได้ทั้งหมด

พล.อ.อ.ศิริพล ศิริทรัพย์ กรรมการผู้จัดการทีเอไอ กล่าวว่า ระยะแรก เชื่อว่าเอสเอ็มอีไทยผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อากาศยานได้ อาทิ เครนนกเครื่องบินเพื่อซ่อม เพลต อุปกรณ์ บัลเดิ้ลสายไฟ น็อต ระบบเซฟตี้ โดยจะมีหน่วยขึ้นมารับรองมาตรฐานให้เป็นไปตามคุณสมบัติที่เจ้าของเครื่องบินกำหนด สำหรับแผนงานอีก 5 ปี บริษัทตั้งเป้าเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน เริ่มจากตัวปีก เครื่องบินไร้คนขับ โดรน จะทำให้สถานะของทีเอไอ เป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนและซ่อมบำรุงอากาศยาน อันดับ 1 ของไทย ขายเชิงพาณิชย์ให้กับผู้ประกอบเครื่องบินทั่วโลก หากไทยใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตขึ้นเองประกอบเอง จะทำให้ราคาถูกกว่านำเข้า 20-30% เป็นจุดเริ่มต้นในการผลักดันอุตสาหกรรมการบินของไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image